‘รื้อภาษี’ ต้องอธิบายให้ชัด
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ
รัฐบาลกำลังโยนหินเรื่อง “ปรับโครงสร้างภาษี” ครั้งใหญ่
เพื่อแก้ปัญหาการ “ขาดดุลงบประมาณ” ที่พุ่งขึ้นต่อเนื่อง ในระยะเวลาแค่ 10 กว่าปี เพิ่มจากระดับแค่ 1-2 แสนล้านบาท ล่าสุดในปีงบประมาณ 2568 ทะลุ 8 แสนล้านบาทขึ้นไปแล้ว แถมยังปริ่ม ๆ จะทะลุ 9 แสนล้านบาทอีกต่างหาก และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกหากไม่มีการจัดการอะไร
ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ขยับกรอบเพดานความยั่งยืน จากไม่เกิน 60% ของจีดีพี เป็น 70% ของจีดีพี ก็มีวี่แววว่าจะเกินเพดานอีก หากไม่เร่งจัดการอะไร
นั่นเพราะรายจ่ายภาครัฐมีแต่เพิ่มขึ้นทุกปี ขณะที่รายได้เพิ่มน้อย จนตามไม่ทัน ยิ่งช่วงหลายปีมานี้ เศรษฐกิจไทยโตต่ำมาตลอด ก็ยิ่งทำให้รายได้โตไม่ทันรายจ่าย หนี้จึงยิ่งพุ่ง
แล้วยิ่งประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์แบบแล้ว และจะก้าวไปสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด รายจ่ายด้านสวัสดิการยิ่งบานตะไท
แน่นอนว่าเวลาพูดถึงการปรับโครงสร้างภาษี ก็จะมีเสียงค้านเรื่องการขึ้นภาษี แต่ก็จะไม่ค่อยพูดถึงภาษีที่ลดลงกัน
โดยรัฐบาลยอมรับว่ามีแนวคิดที่จะปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากที่เก็บที่ 7% มานาน ขณะเดียวกัน ก็จะลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากปัจจุบันที่เก็บเป็นขั้นบันไดอยู่ที่ 5-35% และภาษีนิติบุคคลที่ปัจจุบันเก็บที่ 20%
นอกจากนี้ เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ก็ต้องใช้ภาษีทรัพย์สินเข้ามาจัดการด้วย
ขณะที่การจ่ายสวัสดิการก็จะใช้ระบบภาษีนี้ด้วยเช่นกัน ที่เรียกว่า Negative Income Tax (NIT) ซึ่งต่อไปคนไทยทุกคนไม่ว่ารวยหรือจนก็ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีประจำปี ยื่นไปแล้วใครมีเงินได้ไม่ถึงเกณฑ์ก็ไม่ต้องเสีย แถมถ้ามีเงินได้ต่ำกว่าเกณฑ์ก็จะได้รับการช่วยเหลือ จ่ายเป็นเงินคืนให้เป็นขั้นบันได
ก็ต้องบอกว่า การปรับโครงสร้างภาษีควรต้องทำ แต่ทำแค่ไหน ทำเมื่อไหร่ อันนี้ต้องพิจารณาให้เหมาะสม
ภาษี VAT จะเพิ่มกลับไปเป็น 10% ตามกฎหมายกำหนด หรือจะพรวดไป 15% เหมือนที่ประโคมข่าวกัน ตรงนี้คงต้องตอบให้ชัด จะปรับเท่าไหร่ ปรับอย่างไร แน่นอนว่าการเก็บ VAT เพิ่ม จะทำให้รัฐมีรายได้เป็นกอบเป็นกำขึ้นแน่นอน เพราะเพิ่ม 1% ทำให้รัฐมีรายได้เพิ่ม 7 หมื่นล้านบาท (สุทธิหลังหักคืนภาษีแล้ว)
หรือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากลดลง เช่น เหลือ 15% อัตราเดียว ก็ต้องอธิบายว่าเรื่องค่าลดหย่อนต่าง ๆ จะยังมีอยู่ไหม มีอยู่บางรายการ หรือยกเลิกทั้งหมด ซึ่งหากเก็บตามแนวทางนี้ แน่นอนว่าคนที่เคยเสียสูงกว่านี้ ไม่มีปัญหาแน่นอน แล้วคนที่เคยเสียต่ำกว่าล่ะ จะกลายเป็นถูกขึ้นภาษีหลายเด้งหรือเปล่า
ส่วนภาษีนิติบุคคล หากลดเหลือ 15% แล้ว แน่นอนว่าภาคธุรกิจจะได้ประโยชน์แน่นอน แต่จะสะท้อนมาดูแลประชาชนด้วยหรือไม่ เช่น การลดราคาสินค้า หรือบริการ เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ กระทรวงการคลังคงต้องอธิบายชัด ๆ ให้ครบลูป จะได้เกิดความเข้าใจร่วมกัน