ต้องปรับปรุงการจัดเก็บภาษี
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ
แม้แนวคิดในการปรับปฏิรูปโครงสร้างระบบภาษีครั้งใหญ่ของประเทศไทย ด้วยการปรับปรุงการจัดเก็บภาษี ซึ่งจะประกอบไปด้วย 1) ภาษีนิติบุคคล อาจมีการพิจารณาปรับลดการจัดเก็บให้เหลือ 15% จากปัจจุบันที่ 20% 2) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อาจพิจารณาปรับลดการจัดเก็บภาษีลงเหลือ 15% จากปัจจุบันที่เป็นอัตราก้าวหน้าของภาษีเงินได้สูงสุด 35% และ 3) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากปัจจุบันที่จัดเก็บอยู่ที่ 7% และมีแผนที่จะปรับขึ้นไปอีก ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกมีการจัดเก็บภาษี VAT อยู่ระหว่าง 15-25% นั้น
ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงแสดงความกังวลที่ว่า การปรับลดภาษีนิติบุคคลลง เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ จะส่งผลให้ภาคธุรกิจมีกำไรเพิ่มขึ้น การจ้างงานในประเทศขยายตัว แต่ก็ต้องแลกกับการที่รัฐบาลจะจัดเก็บภาษีได้น้อยลง ทำให้รายได้ของรัฐลดลง การปรับลดภาษีนิติบุคคลธรรมดา เพื่อดึงดูดแรงงานคุณภาพทักษะสูง แม้จะส่งผลดีต่อผู้มีรายได้สูง ทำให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ขณะที่รัฐบาลจะจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจากกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ก็จะกระทบต่อกำลังซื้อของผู้มีรายได้น้อย
ส่วนการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพิ่มขึ้นจากอัตราปัจจุบัน หรือ จาก 7% เป็น 15% ซึ่งมีความเห็นคัดค้านมากที่สุด ด้วยเจตนาที่จะเพิ่ม “รายได้” ภาครัฐ จากข้อเท็จจริงที่ว่า รายได้ของรัฐในปีงบประมาณที่ผ่านมา ถูกจัดเก็บมาจากภาษีมูลค่าเพิ่มคิดเป็นสัดส่วนถึง 28% การขึ้นภาษี VAT ก็เท่ากับรัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อลดขนาดของการขาดดุล แต่ก็จะกลายเป็นภาระของผู้มีรายได้น้อย ผู้ผลิตสินค้าฉวยโอกาสปรับขึ้นราคา มีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะสูงขึ้น การบริโภคก็จะน้อยลงตามไปด้วย
ด้านสมาคมธนาคารไทยมีความเห็นว่า การปรับปรุงการจัดเก็บภาษีของประเทศ “เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” เหตุเนื่องมาจากประเทศไทยจัดงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี และงบประมาณรายจ่ายของประเทศในขณะนี้ถูกใช้ไปกับงบฯสวัสดิการที่นับวันจะสูงขึ้น ไม่ใช่งบฯการลงทุนที่ประเทศต้องการ ซึ่งจะมีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยตรง
ประกอบกับปัจจุบันมีผู้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประมาณ 12 ล้านคน แต่มีคนเสียภาษีจริงแค่ 4 ล้านคน ส่วนคนไทยอีก 70 ล้านคนใช้สวัสดิการของรัฐที่จัดให้ ซึ่งยังไม่รวมแรงงานนอกระบบ จากเศรษฐกิจนอกระบบที่มีสัดส่วนมากกว่า 48% ที่รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณบางส่วนเข้าไปดูแล
ดังนั้น การปรับปรุงการจัดเก็บภาษีในภาพรวมของรัฐบาลในครั้งนี้จึงนับเป็นความกล้าหาญที่รัฐบาลจะต้องทำจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏข้างต้น เพียงแต่การจัดเก็บภาษีทั้งการเพิ่มและการลดจะต้องมีการศึกษาและพิจารณาอย่างเหมาะสม ไม่ให้ผู้มีรายได้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งต้องแบกรับภาระจากความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นมากจนเกินความสามารถของการหารายได้ที่เกิดขึ้น