คลังชงปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ “ขึ้น VAT-ลดภาษีเงินได้-บี้ภาษีทรัพย์สินคนรวย”
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ
ปลัดคลังเดินแผนปฏิรูปภาษีเก็บรายได้เข้ารัฐ แก้โจทย์เศรษฐกิจโตต่ำ “หนี้สาธารณะ” ใกล้เต็มเพดาน แจงไม่ควรกู้มากไปกว่านี้ หวั่นกระทบเสถียรภาพการคลัง เร่งเครื่องชงแผนปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ขึ้น VAT-ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคลให้อยู่ที่ระดับ 15% ยกเลิกอัตราขั้นบันได-ค่าลดหย่อน ไล่เก็บภาษีทรัพย์สินคนรวย รวมถึง Capital Gain Tax จากการขายหุ้น ลดความเหลื่อมล้ำ-ดูแลผู้มีรายได้น้อย และสร้างเม็ดเงินรายได้เข้ารัฐลงทุนขับเคลื่อนประเทศ รมว.คลังยอมรับขึ้น VAT อ่อนไหวแต่จำเป็น
รัฐฐบาลกู้เพิ่มไม่ได้
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงแผนการปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ว่า เศรษฐกิจไทยมีปัญหาที่เรื้อรัง อัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ต่ำมานาน ทำให้สะสมปัญหา ซึ่งหลังจากโควิด ประเทศอื่น ๆ กลับมาโตกันได้ดี แต่ไทยยังโตต่ำแค่ระดับ 1-2% ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่การจะแก้ไขเรื่องโครงสร้างจะช้าทำไม่ได้เร็ว จึงต้องทำบางเรื่องควบคู่กันไป ทั้งระยะสั้นและระยะยาว
“จีดีพีโตต่ำ ก็ส่งผลให้รัฐบาลจัดเก็บรายได้น้อย เพราะภาษีขึ้นกับเศรษฐกิจ พอรายได้รัฐบาลได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ก็ส่งผลถึงกระบวนการทางงบประมาณที่ต้องขาดดุล รัฐบาลก็เลยจัดเก็บรายได้ไม่ได้ตามที่ควรจะเป็น ก็ต้องไปกู้เพิ่ม ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับสูง แต่กระทรวงการคลังก็ไม่ได้บอกว่า จะกู้แบบนี้ไปเรื่อย ๆ เพราะจะทำให้ภาคการคลังไม่ยั่งยืน เราจะกู้เท่าที่จำเป็น ซึ่งกำลังคุยกันอยู่ในการทำงบประมาณปี 2569”
ขึ้น VAT-ลดภาษีเงินได้
นายลวรณกล่าวว่า ปัญหาของประเทศไทยตอนนี้นอกจากปัญหาหนี้ครัวเรือน หนี้นอกระบบ รวมทั้งหนี้สาธารณะของรัฐบาลก็อยู่ในระดับที่สูง ซึ่งการที่จะกู้เพิ่มก็จะทำให้ภาคการคลังไม่ยั่งยืน ดังนั้นจำเป็นต้องหารายได้เพิ่ม ซึ่งแนวทางก็คือ การปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่เพิ่มที่จะให้รัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอที่จะมาลงทุนและขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเติบโตได้
เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีรายได้ภาษีเพียง 14% ของจีดีพี ซึ่งถือว่าต่ำมาก ทำให้ไม่มีงบประมาณเหลือมาลงทุน ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ จะมีรายได้ภาษีอยู่ที่ 18-20% ต่อจีดีพี ดังนั้นแนวทางสำคัญคือ การปฏิรูปโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่ต้องมีการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT ซึ่งตามเพดานกฎหมายสามารถขึ้นไปได้ถึง 10% แต่ขณะเดียวกันก็ให้ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยจะเป็นโครงสร้างแบบใหม่ เป็นอัตราเดียว โดยยกเลิกภาษีแบบขั้นบันได... อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/finance/news-1708405
ดังนั้นการทำงบประมาณก็ต้องดูให้เหมาะสม โดยหากรายได้ไม่โต รายจ่ายก็ไม่ควรจะโตด้วย เพราะประเทศไทยก็ไม่ควรขาดดุลมากไปกว่านี้อีกแล้ว เพราะจะส่งผลกระทบถึงเครดิตเรตติ้งของประเทศ
บี้เก็บภาษีทรัพย์สิน
“ขณะนี้กำลังทำการบ้านกันอยู่ แนวทางคือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีนิติบุคคลต้องต่ำลง ตามบริบทของโลก ส่วนภาษีการบริโภค (VAT) ต้องปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งตามเพดานกฎหมายสามารถขึ้นไปได้ถึง 10% รวมถึงการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน โดยเก็บจากความมั่งคั่ง จากทรัพย์สินที่มีทะเบียน หาได้ อาทิ บ้าน รถยนต์ ที่ดิน เงินฝาก เป็นต้น”
รวมถึงภาษีกำไรจากการขายหุ้น Capital Gain Tax ก็เกิดขึ้นมาเพื่อจะเก็บจากความมั่งคั่ง แต่ไทยยังไม่เคยเก็บ โดยอาจเป็นลักษณะให้หักขาดทุนก่อนได้ ถ้าแต่ละปีหักสุทธิแล้วมีกำไรค่อยเก็บภาษี ถือว่าเป็นจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง (Wealth Tax) ของคนรวย ซึ่งก็จะทำให้ได้เม็ดเงินมากขึ้น
“นี่คือการปฏิรูปภาษีของจริงที่จะตื่นเต้น ไม่ใช่การปะผุเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้สำเร็จออกมาก่อนเกษียณแน่นอน” นายลวรณกล่าว
เสนอแผนปฏิรูปก่อนสิ้นปี
นายลวรณกล่าวว่า เรื่องการปฏิรูปโครงสร้างภาษี ต้องเป็นความกล้าหาญทางการเมือง เพราะเป็นเรื่องสำคัญ อย่างไรก็ดี การขึ้นภาษีก็ต้องดูจังหวะเวลาว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวจากโควิด แล้วมันแข็งแกร่งพอหรือยัง พร้อมหรือยัง ไทม์มิ่งเป็นเรื่องสำคัญ
นอกจากนี้ต้องดูว่า ถ้าขึ้นภาษีแล้วสามารถเยียวยาคนบางกลุ่มได้หรือไม่ ตอนนี้ให้การบ้านไปทำ คงเสร็จก่อนสิ้นปี ก็จะนำเสนอ รมว.คลัง
โดยวิธีลดขาดดุล วิธีหนึ่งก็คือ การใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะโยงไปเรื่อง NIT (Negative Income Tax) ที่จะตอบโจทย์เรื่องการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ภาพที่จะเกิดขึ้นในอีกประมาณ 2 ปีต่อจากนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการมี Data ทำให้รู้ว่าคน 1 คนมีรายได้เท่าไหร่ โดยหลักการสำคัญคือ 1.ทุกคนต้องยื่นแบบภาษี และถ้ามีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี ก็ไปจ่ายภาษีกับกรมสรรพากร ส่วนคนที่รายได้ไม่ถึงเกณฑ์ หรือจำเป็นต้องรับสวัสดิการ ก็จะส่งกลับมาที่กระทรวงการคลัง เพื่อจัดแพ็กเกจสวัสดิการที่เหมาะสมให้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมาเปิดลงทะเบียนทุก 1 ปี หรือ 2 ปีแล้ว เพราะเราจะมีข้อมูลจากการยืนแบบภาษีอยู่แล้ว และระบบนี้ก็จะทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณด้านสวัสดิการไม่เกิดความซ้ำซ้อนด้วย
ขณะที่ปัจจุบันมีผู้ยื่นแบบภาษี 11 ล้านคน ขณะที่ผู้เสียภาษีเพียง 4 ล้านคนเท่านั้น เพราะผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 28,000 บาทต่อเดือนก็ไม่ต้องเสียภาษี
เลิกเก็บภาษีขั้นบันได
ปลัดคลังอธิบายเพิ่มเติมว่า รูปแบบการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบขั้นบันได จะต้องทบทวนใหม่ เพราะจากที่ใช้มานานแล้ว แต่ก็ไม่เห็นลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนลงได้ ดังนั้นเครื่องมือนี้ใช้ไม่ได้ เพราะปัจจุบันมีการวางแผนภาษีได้ มีค่าลดหย่อนสารพัด
ส่วนภาษีการบริโภคหรือ VAT นั้นก็จะต้องปรับเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมามักจะถูกต่อต้านเพราะคนจนจะมีภาระ VAT เพิ่มขึ้น ทั้งนี้แม้คนรวยกับคนจนจะเสีย VAT อัตราเท่ากัน แต่ก็มีรูปแบบการบริโภคที่ต่างกัน และที่สำคัญแนวทางใหม่คนที่ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี คลังก็จะมีช่องทางที่จะคืนภาษีกลับไป
“อย่าไปกลัวภาษีการบริโภคมากนัก เพราะประเทศไทยมีกลไกการดูแลและชดเชยคนตัวเล็กเยอะ” นายลวรณกล่าว
ลดภาษีนิติฯดึงดูดลงทุน
นายลวรณกล่าวว่า สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลที่มีข้อตกลงของ OECD ไม่ให้เก็บต่ำกว่า 15% ก็มีการพิจารณาว่าจะเก็บที่ 15% เลยดีไหม จากปัจจุบันเก็บอยู่ที่ 20% ซึ่งจะช่วยดึงดูดการลงทุนด้วย ซึ่ง 15% ถือเป็นอัตราต่ำที่สุด ถ้าจะยังหลบเลี่ยงภาษีอีกก็ไม่รู้จะยังไงแล้ว ขณะที่วันนี้ข้อมูลในการติดตามภาษีก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ เรียกว่าต้นทุนการที่ผู้ประกอบการจะหลบเลี่ยงภาษีจะสูง ไม่คุ้มที่จะทำ
“เรามีกฎหมายแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เราออกพระราชกำหนดไป ทำให้สรรพากรจะรู้หมดว่าใครมีรายได้ในต่างประเทศอย่างไรบ้าง ขณะเดียวกันเราก็ต้องส่งข้อมูลเงินได้ต่างชาติที่เกิดในประเทศไทยให้สรรพากรต่างประเทศด้วย มีการรับรู้ข้อมูลเงินได้จากทั่วโลก ก็จะนำมาสู่การเก็บภาษีได้ ใครมีเงินฝากอยู่เมืองนอกเท่าไหร่ แต่ตอนนี้รู้หมดแล้ว ทำให้ไม่มีที่ซ่อนเงินแล้ว”
นายลวรณกล่าวว่า จากที่กฎหมายดังกล่าวจะเริ่มบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2568 ก็หวังว่าในปี 2568 การจัดเก็บภาษีจะเพิ่มขึ้น
AI ตรวจภาษีทุกรายการ
นายลวรณกล่าวถึงการเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บภาษี ตอนนี้กระทรวงการคลังมอนิเตอร์สถานการณ์จัดเก็บถี่ขึ้น เป็นทุก 2 สัปดาห์ จากเดิมที่จะดูเป็นรายเดือน
นอกจากนี้ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือ การนำ AI มาใช้ตรวจภาษี จากเดิมที่อาศัยผู้ตรวจสอบบัญชีภาษีประมาณ 2,000 คน ซึ่งก็ต้องใช้วิธีสุ่มตรวจ แต่จากที่กระทรวงการคลังได้มีการนำเอกสารข้อมูลภาษีแปลงไฟล์เป็นระบบดิจิทัลทั้งหมด พร้อมกับ AI มาช่วยงาน ซึ่งก็จะทำให้สามารถตรวจภาษีย้อนหลังได้หลายปี โดยสามารถตรวจได้บ่อยเท่าที่ต้องการ และสามารถตรวจสอบได้แบบ 100% ไม่ใช่การสุ่มตรวจแบบในอดีต ขณะที่ไม่ต้องใช้กำลังคนมากเหมือนในอดีต
“อันนี้เป็นการตรวจสอบคนที่อยู่ในระบบอยู่แล้ว แต่เสียภาษียังไม่ถูกต้อง ส่วนพวกที่อยู่นอกระบบก็ต้องไปกวาดเข้ามาด้วย”
งัดเศรษฐกิจใต้ดินขึ้นมา
ปลัดคลังกล่าวเพิ่มเติมว่า การแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาวก็คือ “ต้องลงทุน” แต่วันนี้รัฐบาลมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ ทำให้ไม่เหลือเงินไปลงทุน ดังนั้นก็ต้องกลับมาพูดเรื่องปฏิรูปโครงสร้างภาษีอย่างจริงจังมากขึ้น ทำอย่างไรให้มีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 18% ต่อจีดีพี
การทำให้เศรษฐกิจใต้ดินขึ้นมาอยู่บนดินก็เป็นหนึ่งในแนวทางสร้างรายได้ โครงการหนึ่งของรัฐบาลก็คือ เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ซึ่งจะพูดถึงเรื่องการท่องเที่ยวที่จะเป็น Magnet ใหม่ ๆ การพูดเรื่องกาสิโนที่ถูกกฎหมาย โดยเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องตื่นเต้นในภูมิภาคนี้ เพราะทุกประเทศในอาเซียนทำกันหมดแล้ว แถมยังมีลูกค้าคนไทยเป็นลูกค้าหลัก แต่ประเทศไทยไม่มี ก็ต้องดูว่าถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่จะยอมรับความจริง และทำให้กาสิโนถูกกฎหมาย
บิ๊กดาต้า “อารีย์ สกอร์”
นายลวรณกล่าวว่า ขณะที่ปัญหาหนี้นอกระบบมีเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมาอาจไปไล่จับคนกระทำผิด แต่ก็ไม่ยั่งยืน ดังนั้นสิ่งที่กระทรวงการคลังกำลังทำ เป็นดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น มีฐานข้อมูลกลาง ที่แต่ละกรมสามารถนำไปใช้ได้ โดยปัจจุบันกำลังทำระบบ “อารีย์ สกอร์” เป็นการเก็บข้อมูลทั้งทางด้านภาษี ข้อมูลการรับสวัสดิการ ข้อมูลการเป็นหนี้ ข้อมูลเงินฝาก ซึ่งครอบคลุมประชากรไทยประมาณ 60 ล้านคน จะทำให้เข้าใจความเป็นอยู่ของประชาชน และแก้ปัญหาได้ตรงจุดขึ้น สามารถใช้เป็นข้อมูลในการให้สินเชื่อกับคนตัวเล็ก ที่ดอกเบี้ยจะถูกกว่ากู้นอกระบบ
“แนวคิดคือ การประเมินความเสี่ยงของกลุ่ม Underserve แต่ละคนออกมาเป็นสกอร์ 1-10 ซึ่งสถาบันการเงินนำไปใช้ได้ อย่างธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย นำไปใช้แน่ อันนี้จะไม่เข้มเท่ากับเครดิตบูโร แต่ Channel ในการเดินก็ยังเป็นเครดิตบูโรอยู่ ต่อไปเวลากู้เงินนอกจากเช็กเครดิตบูโร ถ้าเป็นคนตัวเล็กก็ให้เช็กอารีย์ สกอร์ ก็จะเป็นอีกทางเลือก ที่จะทำให้มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น”
ส่วนการแก้ไขหนี้ครัวเรือนเร่งด่วนที่กำลังทำกันอยู่ รมว.คลังจะไปแถลงที่ ธปท. ในวันที่ 11 ธ.ค. ทั้งนี้คนที่เป็นหนี้บ้าน หนี้รถ หรือคนตัวเล็ก ๆ ที่เป็นหนี้ไม่เกิน 5,000 บาท หรือ 10,000 บาท ที่จะเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่
จีดีพีไตรมาส 4 โต 4%
ปลัดคลังกล่าวเพิ่มเติมเรื่องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากนี้ว่า ในระยะสั้นต้องมีการลงทุนขนาดเล็ก เห็นผลเร็ว และกระจายไปทั่วประเทศ ขณะนี้ สศช.กำลังดู เช่น โครงการแหล่งน้ำขนาดเล็ก ไม่เกิน 5 ล้านบาท เป็นต้น
อย่างไรก็ดี จีดีพีไตรมาส 4 ยังเชื่อว่าจะโตกว่า 4% ซึ่งไม่เห็นการเติบโตระดับนี้มานานแล้ว ซึ่งเป็นผลจากมาตรการแจกเงิน 10,000 บาท ที่ลงไปตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. แต่ผลมาเกิดในไตรมาส 4 ส่วนทั้งปีจะโตได้ใกล้ ๆ 3% ซึ่งเดิมเคยประเมินโตเกินกว่า 3% แน่นอน แต่มาเจอผลกระทบน้ำท่วมที่รุนแรงกว่าที่คิด
“พิชัย” เปิดประตูขึ้น VAT
สอดคล้องกับที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงาน Sustainability Forum 2025 ว่าได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เร่งพิจารณาเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีเพื่อสนับสนุนเรื่องการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล
ภาษีที่มีส่วนสำคัญคือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จะต้องปรับสอดคล้องกับหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยเก็บอยู่ที่ 7% จากเพดานที่เก็บได้ 10% ซึ่งถือว่าน้อย เมื่อเทียบต่างประเทศทั่วโลก ที่มีการเก็บภาษี VAT เฉลี่ย 15-20% เช่น จีนเก็บภาษี VAT 19% สิงคโปร์ 9% จากเดิมที่อยู่ 5% และหลายประเทศในยุโรปขึ้นไปหลักเกือบ 20%
เพิ่มเงินกองกลางช่วยคนจน
“เรื่อง VAT เป็นภาษีที่เก็บจากทุกคน หลายคนมองว่าเป็นเรื่องที่อ่อนไหว แต่ถ้าหากเก็บสูงขึ้นและเหมาะสมจะทำให้ผู้ที่มีรายได้ต่ำรอด ทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนจะลดลง เพราะถ้าเก็บสูงขึ้นคนรวยมาก ๆ จ่ายสูงขึ้นตามการใช้จ่าย คนรวยปานกลางจ่ายสูงขึ้น เงินภาษีกองกลางก็ใหญ่ขึ้น ก็จะส่งกลับไปให้โอกาสกับคนรายได้น้อยผ่านมาตรการต่าง ๆ ไม่ว่าจะสาธารณสุข ที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล สถานศึกษา” นายพิชัยกล่าว
นายพิชัยกล่าวว่า นอกจากนั้นยังสามารถนำเงินภาษีกองกลางที่จัดเก็บได้ ไปสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจในประเทศ ซึ่งรัฐบาลจะเข้าไปช่วยเรื่องโครงสร้างพื้นฐานให้มีต้นทุนต่ำ เช่น บ่อบำบัดน้ำเสีย การขนส่ง ต้นทุนพลังงาน เป็นต้น
“การปรับ VAT สูงขึ้นเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอีกที ซึ่งผมก็นอนคิดทุกคืนว่าจะทำอย่างไร จะทำให้คนเข้าใจก่อน เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน” นายพิชัยกล่าว
อย่างไรก็ดี เรื่องการปรับโครงสร้างภาษี นอกจากปรับขึ้น VAT แล้ว ยังต้องมีการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 20% ให้เหลือ 15% เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และแข่งขันกับชาวโลกได้ ซึ่งประเทศอื่นเขาก็ทำกัน... อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/finance/news-1708405