สิทธิประโยชน์ EEC ค้างท่อแสนล้าน รอเก้อนับปีหวั่นนักลงทุนตีจาก

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ
EEC บ่นเสียโอกาส เผยสิทธิประโยชน์ค้างท่อกว่า 1.35 แสนล้าน รอ ครม.มาเกือบปียังไม่ได้ฤกษ์เข้า นักลงทุนต่างชาติ 12 รายเซ็ง บางรายหนีขอบีโอไอแทน บางรายหนีไปประเทศอื่นแล้ว เอกชนกระทุ้งขอเพิ่ม “ปราจีนฯ” เป็นส่วนหนึ่งของอีอีซี หลังระยอง ชลบุรี ใกล้เต็มแล้ว นิคมโรจนะฯ ส้มหล่นมีพื้นที่รองรับเพียบ จับตา WHA กว้านซื้อที่ตุนรอท่า

สิทธิประโยชน์ค้างเติ่งเป็นปี

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือ EEC) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สิทธิประโยชน์ในพื้นที่ EEC ซึ่งได้ร่างกรอบหลักเกณฑ์ไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ด EEC) เรียบร้อย จากนั้นได้เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ตั้งแต่ปลายปี 2566 ทำให้มีนักลงทุนทยอยเข้ามาเจรจาและแสดงความสนใจอย่างมาก

เนื่องจากระหว่างการโรดโชว์เพื่อชักจูงการลงทุน ได้มีการนำเสนอสิทธิประโยชน์ที่มากถึง 14 ข้อ เพื่อดึงดูดความสนใจ ปัจจุบันผ่านมาเกือบครบ 1 ปี สิทธิประโยชน์ EEC ยังคงค้างเรื่องอยู่ที่ ครม. รอเพื่อทราบ ซึ่งขณะนี้มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานบอร์ด EEC รับปากที่จะดูให้

ก่อนหน้านี้มีนักลงทุนสนใจและรอการยื่นสิทธิประโยชน์จาก EEC ประมาณ 20 ราย แต่จากกรณีที่ยังไม่มีประกาศ ทำให้บางรายหันไปขอสิทธิประโยชน์กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แทน และบางรายตัดสินใจที่จะไม่ลงทุนในไทย เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจน

อีกทั้งต้องการสิทธิประโยชน์ EEC เท่านั้น เนื่องจากมองว่าสิทธิประโยชน์บีโอไอไม่ตอบสนองการลงทุน เพราะถูกมองว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่สำคัญ ขณะที่ EEC ให้ความสำคัญเพราะมองว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยเศรษฐกิจประเทศ ทำให้ EEC ต้องเสียนักลงทุนไปเป็น 10 ราย

เงิน 1.35 แสน ล.ไม่เข้าไทย

สำหรับนักลงทุนที่เหลืออยู่ในขณะนี้ มีจำนวน 12 ราย หากสิทธิประโยชน์ EEC พร้อม ทั้งหมดจะตัดสินใจลงทุนทันที โดยมีมูลค่าลงทุนเม็ดเงินสูงถึง 135,000 ล้านบาท เป็นนักลงทุนที่พร้อมลงทุนจริง ซึ่งส่วนใหญ่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมจากยุโรปที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่ไทยไม่มี แบบขั้นสูงจากอุตสาหกรรม BCG (Bio Circular Green) ประเทศเยอรมนี อุตสาหกรรมเหล็กสะอาด (ขึ้นรูปเหล็กรีดร้อน) จากประเทศเยอรมนีเช่นกันที่เริ่มตั้งแต่ต้นทาง เช่น ใช้ไฟสะอาด น้ำรีไซเคิล จะเป็นการลงทุนแห่งแรก ซึ่งสามารถไปเป็นซัพพลายเชนให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้ เพราะจะทำให้เกิดกระบวนการสะอาดตั้งแต่ชิ้นส่วนเหล็ก รวมไปถึงการใช้เชื้อเพลิงของรถ EV

“เขาเปลี่ยนใจไปขอบีโอไอก็ไม่เป็นไร เพราะเรามองว่าอย่างน้อยดึงเขาลงทุนที่ไทยดีกว่าไปที่อื่น ส่วนสิทธิประโยชน์ตรงไหนไม่พอ เราจะเติมให้อย่างพวกที่ดิน Work Permit ใบอนุญาตก่อสร้าง รง.4 เราอยากได้โครงการดี ๆ ใหม่ ๆ รายที่ให้เราให้สิทธิประโยชน์ลอตแรกหลังมี EEC มา 6 ปี ควรเป็นรายที่ดีที่สุด 3 บริษัทจาก 3 ประเทศ จะเป็นการสร้างความมั่นใจ”

ส.อ.ท.ขอเพิ่มพื้นที่ปราจีนฯ

นายนาวา จันทรสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากพบปะหารือกับทาง EEC พบว่า ขณะนี้พื้นที่ EEC เริ่มไม่พอและมีการหารือที่จะเพิ่มพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ EEC เพื่อรองรับการลงทุนที่จะทยอยเข้ามาในปี 2568 ซึ่งคาดว่ามีความเป็นไปได้ เพียงแต่ต้องแก้กฎหมาย EEC ขอขยายพื้นที่คล้ายกับตอนที่ขยายมา จ.ฉะเชิงเทรา จากเดิมมีเพียง จ.ระยอง และ จ.ชลบุรีเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท. ขอให้บีโอไอพยายามกำหนดเงื่อนไขการลงทุนในการใช้ Local Content ที่เป็น Made in Thailand ไม่ใช่ส่งเสริมการลงทุนโดยให้อุตสาหกรรมที่ยกโรงงานจีน คนงานจีนเข้ามา เพราะสิทธิประโยชน์มันคือส่วนหนึ่งของการตัดสินใจลงทุน แต่ไม่ควรมองว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะหลายอย่างไทยเหนือกว่าคู่แข่ง เช่น ค่าเช่าที่ดินไทยแพงกว่าเวียดนาม แต่โครงสร้างพื้นฐานไทยดีกว่า มีสนามบิน คมนาคมที่ดีกว่า ค่าไฟไทยแพงกว่าแต่เสถียรกว่า

โรจนะ-304 รับอานิสงส์เต็ม

แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า พื้นที่ใน จ.ปราจีนบุรี มีสวนอุตสาหกรรมโรจนะ ตั้งอยู่บนถนน 304 อยู่ใกล้เส้นทางโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก จึงเป็นข้อได้เปรียบ หากใช้เป็นฐานในการทำธุรกิจกับกัมพูชา และที่นี่ยังเป็นฐานการผลิตแห่งที่สองของรถยนต์ฮอนด้า และยังคงมีพื้นที่พัฒนาเพื่อรอขายอยู่ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ทางโรจนะฯจะได้อานิสงส์ หากปราจีนฯเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ EEC และยังเชื่อว่ารายใหญ่อย่าง WHA จะเเป็นผู้พัฒนาอีกรายที่เตรียมกว้านซื้อที่ดิน เพื่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมในอนาคตเพื่อรองรับการลงทุนเพิ่ม

นอกจากนี้ยังมี สวนอุตสาหกรรม 304 ซึ่งมีพื้นที่กว่า 7,500 ไร่ ในปราจีนบุรี มีความพร้อมทั้งในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค ที่สำคัญยังเป็นผู้ให้บริการเดียวที่สามารถจำหน่ายพลังงานหมุนเวียนได้ตลอด 24 ชั่วโมง จากโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำที่เป็นโครงการภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งจัดตั้งอยู่บนอ่างเก็บน้ำภายในสวนอุตสาหกรรม

สิทธิประโยชน์ EEC สุดพรีเมี่ยม

สำหรับสิทธิประโยชน์ EEC ทั้งหมด 14 ข้อ ข้อพิเศษสุด คือ การเจรจาเฉพาะราย ประกอบด้วย 1.ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สําหรับกําไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการระยะเวลา 1-15 ปี 2.ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ในอัตราไม่เกิน 50% ของอัตราปกติ ระยะเวลา 1-10 ปี (กรณีที่ผู้ประกอบกิจการไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล) และลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ในอัตราไม่เกิน 50% ของอัตราปกติ ระยะเวลา 1-5 ปี นับจากวันที่การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้สิ้นสุดลง 3.สามารถนําผลขาดทุนประจําปีที่เกิดขึ้น ระหว่างที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ไปหักออกจากกําไรสุทธิที่เกิดขึ้นภายหลัง โดยมีกําหนดเวลาไม่เกิน 5 ปี

4.ผู้ประกอบกิจการที่ไม่ได้รับทั้งการยกเว้นหรือการลดหย่อนภาษี อาจได้สิทธิในการนําเงินที่ใช้ไปในการลงทุน หักออกจากกําไรสุทธิรวมทั้งสิ้นจํานวน 1-70% ของเงินที่ลงทุนแล้วในกิจการนั้น นอกเหนือไปจากการหักค่าเสื่อมราคาตามปกติ 5.สามารถหักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปาได้ 2 เท่า ของค่าใช้จ่าย 6.สามารถนําเงินลงทุน 1-25% ของเงินที่ลงทุนแล้ว มาหักจากกําไรสุทธิของปีใดปีหนึ่งหรือหลายปีก็ได้ ภายใน 10 ปี 7.ยกเว้นไม่ต้องนําเงินปันผลจากกิจการ มารวมคํานวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกอบกิจการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

8.ยกเว้นการนําค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่น ของผู้ประกอบกิจการ มารวมคํานวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ มีกําหนดระยะเวลา 5 ปี 9.ยกเว้นอากรขาเข้าสําหรับเครื่องจักร 10.ยกเว้นอากรขาเข้าสําหรับของที่ผู้ประกอบกิจการนําเข้ามาเพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนา 11.ยกเว้นอากรขาเข้าสําหรับวัตถุดิบและวัสดุจําเป็นที่ต้องนําเข้ามาจากต่างประเทศ เพื่อใช้ผลิต ผสม หรือประกอบผลิตภัณฑ์หรือผลิตผล เฉพาะที่ใช้ในการส่งออก

12.ลดหย่อนอากรขาเข้า สําหรับวัตถุดิบหรือวัสดุจําเป็นที่นําเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อใช้ผลิต ผสม หรือประกอบในกิจการที่ได้รับอนุญาตจากเลขาธิการในอัตราไม่เกิน 90% ของอัตราปกติ โดยมีกําหนดเวลาคราวละไม่เกิน 1 ปี 13.ยกเว้นอากรขาเข้าสําหรับของที่นําเข้ามาเพื่อส่งกลับออกไป 14.ยกเว้นอากรขาออกสําหรับผลิตภัณฑ์หรือผลิตผล ที่ผู้ประกอบกิจการผลิตหรือประกอบ ตามเงื่อนไข วิธีการ และระยะเวลาที่กําหนด

ส่วนสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษี คือ 1.สิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ 2.สิทธิถือกรรมสิทธิ์ห้องชุดภายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 3.สิทธิในการนําคนต่างด้าวที่เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ผู้บริหาร หรือผู้ชํานาญการ ตลอดจนคู่สมรสและบุคคลในอุปการะ เข้ามาและอยู่อาศัยในราชอาณาจักรได้ตามระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตจากเลขาธิการ 4.คนต่างด้าวที่เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ผู้บริหาร และผู้ชํานาญการ ที่ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ นําเข้ามาสามารถทํางานได้ภายใต้ EEC Work Permit