ทุเรียนตะวันออกวืดล้านตัน เร่งแก้จุดอ่อนรับมือตลาดฤดูกาลหน้า

เหลืออีกเพียง 2 เดือน หรือประมาณช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ผลผลิต “ทุเรียน” ภาคตะวันออก มูลค่านับแสนล้านบาทจะทยอยออก แต่ปี 2566 ผลผลิตทุเรียนอาจจะไม่ถึง 1 ล้านตัน ตามที่คาดการณ์ไว้เดิม และทุกปี 90% ของผลผลิตทุเรียนทั้งหมดจะส่งออกไปขายตลาดจีน ซึ่งแต่ละปีผู้ส่งออกยังเผชิญปัญหาหลักด้าน “โลจิสติกส์” และคาดว่าปี 2566 ยังคงเผชิญปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพราะปัญหาโควิด-19 ในจีนที่เริ่มคลี่คลายกลับพุ่งขึ้นมาอีกครั้ง

 

หากจีนยังคงนโยบาย Zero-COVID ตรวจเข้มที่ด่าน และมีการล็อกดาวน์ เช่นเดียวกับปี 2565 ส่งผลกระทบทำให้ผลผลิตเสียหาย ราคาทุเรียนภายในประเทศตกต่ำ ดังนั้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมกันถอดโมเดลปัญหา-จุดอ่อน จากการขนส่งทางเรือที่นิยมใช้กันมากที่สุด ปี 2565 และคาดว่าปี 2566 จะเป็นทางเลือกของการขนส่งเช่นปีที่ผ่านมา

ทุเรียนตะวันออกปีหน้าไม่ถึงล้านตัน

นายธัญสิทธิ์ ชาติวิริยะพงษ์ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต รักษาการแทนเกษตร จ.จันทบุรี ชี้แจงข้อมูล สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยองว่า การวิเคราะห์ข้อมูลครั้งแรกเมื่อ 2 ธันวาคม 2565 คาดการณ์ว่า ปี 2566 ปริมาณผลผลิตทุเรียนภาคตะวันออก 3 จังหวัด รวม 756,456 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีจำนวน 732,330 ตัน เท่ากับเพิ่มขึ้น 24,126 ตัน หรือ 3.30% (จันทบุรี 507,901 ตัน ระยอง 158,137 ตัน ตราด 90,427 ตัน)

เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนและมีโรคและแมลงระบาด โดยผลผลิตจะทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนสิงหาคม 2566 ช่วงที่กระจุกตัวมากที่สุดคือกลางเดือนเมษายน 2566 ผลผลิต 306,064 ตัน หรือ 40% ต่อเนื่องกับเดือนพฤษภาคม ผลผลิต 246,028 ตัน หรือ 32%

ปี 2566 ภาคตะวันออกน่าจะมีผลผลิตทุเรียนไม่ถึง 1 ล้านตัน แต่ตัวเลขยังไม่แน่นอนเพราะทุเรียนยังออกดอกเพียง 65.29% ปีนี้ผลผลิตออกมากเดือนเมษายน ต่างจากปีก่อน ๆ คือเดือนพฤษภาคม และมีช่วงที่ผลผลิตทิ้งช่วงอีก 15-20 วัน การประเมินผลผลิตจะทำอีก 2 ครั้ง เพื่อความชัดเจน”

ระดมสมองแก้จุดอ่อนโลจิสติกส์

 

นายชายพงษ์ นิยมกิจ ประธานหอการค้า จ.จันทบุรี ให้ข้อมูลว่า ปี 2565 ปริมาณส่งออกทุเรียนไปจีน 500,189 ตัน แบ่งเป็น ขนส่งทางบก 165,988 ตัน ทางเรือ 311,339 ตัน ทางอากาศ 22,861 ตัน การขนส่งทางเรือมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 60% จากปกติทุก ๆ ปี 30% ปี 2566 คาดการณ์ทุเรียนภาคตะวันออก ปริมาณ 756,456 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 3.30%

ข้อกังวลหากสถานการณ์ยังคล้ายปี 2565 คือจีนยังเข้มงวดไม่ผ่อนคลายนโยบาย Zero-COVID ปัญหาเชื้อปนเปื้อน จำเป็นต้องติดตามนโยบาย มาตรการต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด ปี 2565 ผู้ประกอบการเปลี่ยนจากขนส่งทางบกมาขนส่งทางเรือมากขึ้น พบว่ามีปัญหาต่าง ๆ

ดังนั้น ทางหอการค้าไทย หอการค้าภาคตะวันออก ร่วมกับจังหวัดจันทบุรี สมาคมภาคเอกชน จัดประชุมร่วมกับตัวแทนผู้ประกอบการขนส่งทางเรือ เพื่อเตรียมวางแผนบริหารจัดการรองรับปริมาณการขนส่ง เพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และมีต้นทุนต่ำ โดยเฉพาะช่วงผลผลิตทุเรียนและมังคุดออกมากเดือนเมษายน พฤษภาคม ประมาณ 70% และต้องคำนึงถึงรถขนส่งทุเรียนของเวียดนามที่ด่านทางบกด้วย

 

“ปีที่ผ่านมามีปัญหาการขาดแคลนตู้ แรงงานขนย้ายติดโควิด และค่าขนส่งทางเรือสูงมาก ค่าเฟรตเรือไปจีนขึ้นไปถึงราคา 5,000 เหรียญดอลลาร์/ตู้ ปัญหาเรือบรรทุกตู้ทุเรียนมีปลั๊กไฟให้ 100-150 ตู้ ยังไม่เพียงพอ น่าจะเพิ่มขึ้น 150-200 ตู้ ตอนนี้สถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติ ปริมาณการค้าโลกไม่ตึงตัวเท่าปี 2565

ญหาขาดแคลนตู้คลี่คลายลง ค่าเฟรตเรือลดลงต่ำกว่า 2,000 เหรียญดอลลาร์/ตู้ และท่าเรือแต่ละแห่งทั่วโลกกลับสู่ภาวการณ์ทำงานปกติ จะช่วยลดข้อจำกัดการขนส่งทางเรือได้มาก ส่วนการขนส่งทางรถไฟลาว-จีน ปี 2566 ที่เพิ่งเปิดใช้เมื่อ 3 ธันวาคม 2565 เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สะดวกรวดเร็ว และเข้าถึงผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น แต่ต้องดูต้นทุนการขนส่งอาจจะมากกว่าทางเรือ” นายชายพงษ์กล่าว

ดันรัฐทำท่าเรือขนส่งผลไม้

นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การขนส่งทางรถไฟจีน-ลาว แม้จะเตรียมตู้ไว้ 500-1,000 ตู้ แต่จะมีปัญหาตู้ไม่เพียงพอ หากมีการส่งตู้ไปวันละ140-150 ตู้ ระยะเวลาขนส่ง 4 วัน ตู้จะกลับมาไม่ทันเพราะมีการกระจายไปที่ต่าง ๆ และค่าเฟรตรถไฟไปจีนแพงกว่ารถยนต์มาก ส่วนการขนส่งทางเรือปีที่แล้วไม่ได้เตรียมการล่วงหน้าทำให้เกิดปัญหา ปี 2566 ต้องมีการวางแผนร่วมกับ บมจ.อาร์ ซี แอล ผู้ประกอบการสายเดินเรือ

“ปี 2566 ได้เตรียมการวางแผนร่วมกับผู้ประกอบการส่งออก เพื่อวางตำแหน่งเรือที่ต้องใช้เวลา 2-3 เดือน บริหารตู้สินค้า 7,000-12,000 ตู้ และจัดหาที่ว่างเพื่อรองรับช่วงที่ผลผลิตออกมาก ไม่ให้การหมุนเวียนของตู้ขาดแคลน และมีการตกลงราคาค่าขนส่ง เส้นทางขนส่งทางเรือ อนาคตท่าเรือแหลมฉบัง มาบตาพุด หรือสัตหีบ ควรพัฒนาเป็นท่าเรือพิเศษ ส่งออกผลไม้โดยเฉพาะ”

ขอโควตาทางเรือ 10% เพิ่มตู้รถไฟลาว-จีน

นายมณฑล ปริวัฒน์ กรรมการหอการค้าจังหวัดจันทบุรี และเจ้าของ “ล้งอรษา” กล่าวถึงปัญหาการขนส่งรถไฟจีน-ลาวว่า การตรวจอนุญาตผลไม้ไทยผ่านสำนักงานตรวจพืชด่านโมฮาน เข้าจีนไปคุนหมิง ใช้เวลารวดเร็วมาก 2-3 วัน ไม่เกิน 4 วัน ถึงเมืองเฉิงตู เป็นอีกเส้นทางที่ช่วยการขนส่ง แต่ขบวนตู้ยังมีน้อย การตรวจใช้เวลาเพียงวันเดียว และตู้ขนส่งคาดว่าจะไม่เพียงพอช่วงผลผลิตมาก

รวมทั้งการเปิดบริการได้วันละ 4-7 เที่ยว เที่ยวละ 35 ตู้ ถ้าช่วงทุเรียนออกมากน่าจะเตรียมการเรื่องดังกล่าวไว้ เช่น ขอปรับการขนส่งเพิ่มขึ้นวันละ 140-245 ตู้ และควบคุมค่าขนส่งที่สูงกว่าทางบก

“การขนส่งทางบกสำคัญเป็นอันดับแรก ส่วนทางเรือเป็นทางเลือกอันดับ 2 ช่วงผลผลิตเริ่มออกเฉลี่ยประมาณ 300-500 ตู้/วัน ช่วงพีกสุด 800 ตู้/วัน น่าจะใกล้เคียงกับปี 2565 ทางบกด่านบ่อเต็น ด่านโหยวอี้กวน แต่ละด่านไม่เกิน 150 ตู้/วัน ทางเรือต้องมากกว่า 100 กว่าตู้/วัน

เสนอขอบริษัท RCL ให้โควตาผู้ประกอบการไทยส่งออกประมาณ 3,800-4,000 ตู้ หรือ 10% จะช่วยได้มาก ปัญหาการขนส่งเชื่อมโยงกับคุณภาพทุเรียน เพราะเปอร์เซ็นต์เนื้อแป้งที่บริโภคได้แตกต่างกันตามระยะเวลาที่ใช้ขนส่ง ทุเรียนคุณภาพดีแต่การขนส่งไม่ดีก็ไม่ประสบความสำเร็จ”

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจาก บริษัท สปีด อินเตอร์ทรานสปอร์ต จำกัด (SPEED INTERTRANSPORT CO.CTD) 1 ในบริษัทที่ให้บริการขนส่งรถไฟจีน-ลาว เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การให้บริการขนส่งทางรถไฟจีน-ลาว ปัจจุบันกระบวนการจัดทำเอกสารปิดตู้ยังล่าช้ากว่าทางบก บางครั้งใช้เวลา 2-3 วัน

 

นอกจากนี้ปริมาณตู้ขนส่งทางรถไฟอาจจะไม่เพียงพอ ต้องสั่งทำตู้ใหม่เฉพาะมีระบบการควบคุมอุณหภูมิซึ่งมีราคาสูง หากมีผู้ใช้บริการมาก ตู้หมุนกลับมาไม่ทัน แต่ถ้าเทียบกับทางบกจะถูกกว่าเล็กน้อย ค่าขนส่งทางรถไฟตู้ละ 160,000-170,000 บาท ทางบก 180,000 บาท การขนส่งสะดวกรวดเร็วจากสถานีขนส่งเวียงจันทน์ใต้ไปถึงด่านโมฮาน ใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน

“รถไฟลาว-จีนเป็นโอกาสและทางเลือกที่เพิ่มขึ้น ให้บริการวันละ 1 เที่ยว เที่ยวละ 25 ตู้ แต่ถ้าจะเพิ่มเที่ยวในแต่ละวันได้ แต่ต้องมีปริมาณสินค้าเที่ยวละ 25-35 ตู้ ซึ่งปริมาณการใช้ต้องจองล่วงหน้า เพื่อบริษัทจะได้บริหารจัดการ คาดว่าถ้าปริมาณของทุเรียนยังไม่มากจะไม่มีปัญหา” แหล่งข่าวจากบริษัท สปีด อินเตอร์ทรานสปอร์ต จำกัด กล่าว

ทั้งนี้ นางลิลพัชร์ ทองโสภา เจ้าของ บริษัท เดอะลิส อินเตอร์คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การขนส่งทางรถไฟลาว-จีนเป็นผลดีต่อการส่งออกแน่นอน เพราะที่ผ่านมาในช่วงที่ทุเรียนภาคตะวันออกผลผลิตออกตรงกันจำนวนมาก การขนส่งทางบก ทางเรือไม่สะดวก มีปัญหาทุกปี บางครั้งตู้ติดเป็น 10 วัน

 

ตอนนี้บริษัททางจีนที่รับซื้อทุเรียนให้ ได้มีการทำสัญญากับบริษัทขนส่งทางรถไฟลาว-จีนไว้แล้ว เพราะช่วงผลไม้ออกมากอาจจะจองยาก ถ้าทุกอย่างลงตัว ต้นทุนน่าจะถูกลง ผู้ประกอบการจะหันมาใช้กันมากขึ้น