“แลนด์บริดจ์” กระทบชาวประมง ระนอง-ชุมพร จี้รัฐออกมาตรการรองรับ
ชาวประมงพื้นบ้านระนอง 12 กลุ่ม หวั่นโครงการแลนด์บริดจ์ รถไฟชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง ส่งผลกระทบหนัก ทำกระแสน้ำเปลี่ยนทิศ ระบบนิเวศ ร้องรัฐเร่งออกมาตรการรองรับ
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ
นายไพบูลย์ สวาทนันท์ ประมงพื้นบ้านจังหวัดระนอง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ชาวประมงจะได้รับผลกระทบหนักมาก หากมีการก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางรถไฟชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง
เพราะเมื่อมีเรือขนาดใหญ่เข้ามาต้องมีการเปิดล่องน้ำให้ลึกขึ้น ทำให้กระแสน้ำเปลี่ยน ส่งผลต่อระบบนิเวศ สัตว์น้ำต้องมีการปรับสภาพ ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่า 10 ปี
และสัตว์น้ำอาจจะไม่ชุกชุมเหมือนเดิม ไม่สามารถทำประมงได้ ส่งผลให้ชาวประมงพื้นบ้าน จ.ระนองที่มีเรืออยู่ประมาณ 3,000-4,000 ลำขาดรายได้ ขณะที่แต่ละครอบครัวมีประชากรรวมกันประมาณ 15,000 คน
“การเปิดทำประชาพิจารณ์ไปก่อนหน้านี้ มีการอธิบายรูปแบบของโครงการ และผลประโยชน์ที่จะได้รับ แต่รายละเอียดเกี่ยวกับผลกระทบรวมถึงการช่วยเหลือชาวบ้านไม่มี
ก่อนทำประชาพิจารณ์ควรเรียกกลุ่มนักวิชาการ กลุ่มประมง ตัวแทนชาวบ้าน กลุ่มท่องเที่ยว มาพูดคุยกันก่อน ว่าภาครัฐจะมีมาตรการอย่างไรทำให้ประมงพื้นบ้านอยู่ได้ วิถีการทำประมงที่จะเปลี่ยนไป คนอาจจะไม่กล้ากินสัตว์น้ำเพราะกลัวมีมลพิษ จึงอยากให้ผู้รับผิดชอบโครงการมองหลากหลายด้าน
ทั้งความเป็นจริง ผลกระทบ กฎหมาย หลายคนบอกว่าต่อไปมีโครงการแลนด์บริดจ์ที่ดินจะมีราคาขึ้น จะทำให้คนระนองมีรายได้เพิ่มขึ้นสามารถนำมาพัฒนาชุมชน จะส่งผลดีเฉพาะคนบางกลุ่มและโรงงาน”
นายสันติพงศ์ บุลยเลิศ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดชุมพร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการแลนด์บริดจ์นั้น ด้านการท่องเที่ยวเป็นห่วงผลกระทบในพื้นที่แหลมริ่ว อ.หลังสวน
เพราะปัจจุบันเป็นท่าเรือเชื่อมโยงการท่องเที่ยววิถีประมงพื้นบ้านและชุมชนเกาะพิทักษ์ ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีก 1 แห่งของชุมพร หากโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจริง เมื่อมีเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่วิ่งเข้า-ออกตลอด ชาวประมงพื้นบ้านต้องมีการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต
ขณะที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็รอดูทิศทาง เพราะไม่ได้เอื้อประโยชน์โดยตรงกับการท่องเที่ยว เป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้าไม่ได้ทำไว้สำหรับเรือโดยสารนักท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ถือว่ายังห่างไกลความเป็นจริง และยังไม่รู้จะคุ้มค่าการลงทุนหรือไม่
นายพรศักดิ์ แก้วถาวร ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการก่อสร้างทางรถไฟชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง เชื่อว่าประชาชนในพื้นที่เห็นด้วยกับโครงการ 80% เพราะข้อดีจะทำให้เกิดการค้าและการลงทุนสูงขึ้น จ.ระนองจะเปลี่ยนจากเมืองการค้าชายแดนเป็นเมืองการค้าระหว่างประเทศ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) จะโตขึ้น หลังท่าเรือน้ำลึกเกิดจะทำให้อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลตามมา สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งสามารถส่งออกสินค้าไปโซนเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และยุโรปได้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาระนองมีการแปรรูปในพื้นที่เพียง 20% สินค้าต้องส่งไปที่จ.สมุทรสาคร เพื่อแปรรูปส่งออก
แต่สิ่งที่น่าห่วงคือ ผลกระทบกับประมงพื้นบ้าน เพราะว่ากระทบต่อการประกอบอาชีพ ปัจจุบันประมงในพื้นที่ระนองมีทั้งหมด 12 กลุ่ม ซึ่งคณะกรรมการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) จะดูแลช่วยเหลือชาวประมง
และคิดว่าสมัยนี้มีเทคโนโลยีที่สามารถควบคุมเรื่องสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ได้ อยากให้ระนองมีสิ่งแวดล้อมที่ดีควบคู่กับการพัฒนาอย่างยั่งยืน หากมีแต่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจจะอยู่ยาก ความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจจะสูง
นายไพบูลย์ ลิ้มเลิศวาที ประธานหอการค้าจังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวมีข้อดีทำให้เกิดการค้าและการลงทุนเติบโตขึ้น ด้านการเกษตรจะมีการตั้งโรงงานแปรรูปมาต่อยอดเป็นสินค้ามูลค่าเพิ่มได้ อีกทั้งการท่องเที่ยวใน จ.ชุมพรจะโตขึ้น เพราะการเดินทางในอนาคตสะดวกมีทั้งทางด่วน และรถไฟทางคู่ ระยะทางสั้นลง
ส่วนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมคงไม่มาก ส่วนผลกระทบภาคประมงพื้นบ้านเป็นปัญหาที่สามารถแก้ได้โครงการนี้มองว่ามีผลดีมากกว่าผลเสีย ทั้งด้านการท่องเที่ยว สังคม เศรษฐกิจจะโตหลายเท่าตัว ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด(GPP) จ.ชุมพร
ปัจจุบันอยู่ 126,000 ล้านบาท แบ่งเป็นภาคการเกษตร 56% ภาคบริการอื่น ๆ กว่า 20% ภาคการท่องเที่ยว 12% คาดว่า GPP จะเติบโตขึ้นอีก 2-3 เท่าตัว
“อย่างไรก็ตาม เรามองโครงการดังกล่าวว่าขายฝันเกินไป จะนำงบประมาณจากไหนมาลงทุน ซึ่งมีมูลค่ากว่า 3-4 แสนล้านบาท ซึ่งโปรเจ็กต์เดิมที่แหลมคอกาวไปจ.ระนอง โดยใช้ท่าเรือเดิม ใช้งบประมาณ 5-6 พันล้านบาทก็ยังไม่มีงบประมาณมาทำ ถ้าโครงการเกิดขึ้นจริงก็ดี แต่เรามองว่ามันยาก”