พิษนโยบาย “ซีโร่โควิด” จีนเริ่มเสียแชมป์ “โรงงานโลก”

ที่มา:ประชาชาติธุรกิจ
อาจจะด้วยความที่เป็นจำเลยของสังคมโลก เรื่องที่เป็นต้นตอให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้นำจีนยังคงยึดมั่นนโยบายโควิดเป็นศูนย์หรือ “ซีโร่โควิด” อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน จนกล่าวได้ว่ายังคงเป็นประเทศเดียวที่ใช้นโยบายโควิดแบบตึงสุดขีด สวนทางกับส่วนใหญ่ของโลกที่ผ่อนคลายลงมากแล้ว นโยบายดังกล่าวหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน

ซีเอ็นบีซี รายงานว่า ตามข้อมูลของบริษัท เอ็มดีเอส ทรานส์โมดัล ซึ่งเป็นบริษัทจัดเก็บข้อมูลด้านการขนส่งระหว่างประเทศ แสดงให้เห็นว่าจีนที่เคยได้ชื่อว่า “โรงงานของโลก” กำลังสูญเสียแชมป์ในการส่งออกสินค้าหลักหลายอย่าง ทั้งเสื้อผ้า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ สินค้าสำหรับการเดินทาง ให้กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม มาเลเซีย บังกลาเทศ เป็นต้น เพราะนโยบายโควิดเป็นศูนย์ทำให้ลูกค้าของจีนเสาะหาสินค้าจากประเทศอื่นมาทดแทน

ดส่วนการส่งออกสินค้าบริโภคในตลาดโลกของจีนถดถอยลงมาตามลำดับ เช่น เสื้อผ้าจากที่เคยมีส่วนแบ่ง 41% เมื่อปี 2016 ก็ลดเหลือเพียง 37% ในปี 2022 หรือเฟอร์นิเจอร์จากที่เคยมีส่วนแบ่งตลาด 64% ในปี 2016 ลดเหลือ 53% ในปี 2022 รองเท้าจากที่เคยมีส่วนแบ่ง 72% ลดเหลือเพียง 65% ในช่วงเวลาดังกล่าว

 

เอ็มดีเอสฯ ระบุว่า “เวียดนาม” เป็นประเทศที่แย่งส่วนแบ่งการตลาดไปจากจีนอย่างมีนัยสำคัญมากที่สุด เหตุผลหลักก็คือเป็นประเทศที่อยู่ใกล้จีนและค่าแรงถูก โดยอันที่จริงการแข่งขันระหว่างสองประเทศดุเดือดมาตั้งแต่ก่อนจะมีโควิด-19 แล้ว โดยเวียดนามได้มีการลงทุนภาคการผลิตและการขนส่งทางทะเลมาตั้งแต่ปี 2014 และล่าสุดได้ประกาศสร้างท่าขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์แห่งใหม่ใกล้กับโฮจิมินห์ซิตี หากแล้วเสร็จจะเป็นท่าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยขณะนี้ Maersk ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการขนส่งทางเรือใหญ่ที่สุดในโลก และซีเอ็มเอ ซีจีเอ็ม กำลังขยายการลงทุนในบริเวณนี้เช่นกัน

เวียดนามมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าบริโภคในตลาดโลกเพิ่มขึ้น เช่น เฟอร์นิเจอร์จากที่เคยมีสัดส่วนเพียง 8% ในปี 2016 ก็เพิ่มขึ้นเป็น 17% ในปี 2022 รองเท้าจากที่เคยมีส่วนแบ่ง 12% ก็เพิ่มเป็น 18% สินค้าเพื่อการเดินทางและกระเป๋า เพิ่มจาก 6% เป็น 10% ในช่วงเวลาดังกล่าว ส่วนมาเลเซียและบังกลาเทศแย่งส่วนแบ่งการผลิตเสื้อผ้าไปจากจีน ขณะที่ไต้หวันมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นในด้านการผลิตโลหะ

 

“อักฮิล แนร์” รองประธานอาวุโสของเซโก โลจิสติกส์ เอเชีย-แปซิฟิก ระบุว่า นับตั้งแต่เกิดสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ด้วยการตั้งกำแพงภาษีระหว่างกันตั้งแต่ปี 2018 ทำให้ประเทศต่าง ๆ มองหาแหล่งผลิตอื่น ๆ แทนจีน โดยเริ่มแรกจำกัดแค่สินค้าเสื้อผ้าและรองเท้า แต่หลังจากจีนล็อกดาวน์เมืองเพื่อสกัดโควิด-19 ทำให้ห่วงโซ่อุปทานชะงักงัน ส่งผลให้ลูกค้าจีนเร่งป้องกันความเสี่ยงด้วยการหันไปหาแหล่งอื่น โดยเฉพาะเวียดนาม และไม่ได้จำกัดแค่สินค้าประเภทเสื้อผ้าและรองเท้าเท่านั้น จะเห็นได้ว่าการไหลเวียนของการค้าชิ้นส่วนวัตถุดิบในเอเชียด้วยกันเพิ่มขึ้น และการส่งออกสินค้าสำเร็จรูปจากเวียดนามและประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็สูงขึ้น

จำนวนตู้สินค้า (คอนเทนเนอร์) ที่ออกจากท่าเรือจีนลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2021 โดยก่อนปี 2021 มีตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุตออกจากท่าเรือจีนเดือนละ 11.2 ล้านตู้ แต่เดือนกันยายนปีนี้ลดเหลือ 8.6 ล้านตู้ หรือลดลง 23.2%

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า แม้ “สี จิ้นผิง” จะประกาศหลังได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 3 ว่าจีนจะยังเปิดประตูสู่โลก เพราะจีนไม่สามารถพัฒนาประเทศได้โดยการโดดเดี่ยวตัวเอง
จากโลกภายนอก แต่หากดูจากการกระทำ จีนในวันนี้ปิดประตูมากกว่าช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เพราะยังคงยืนยันนโยบายโควิดเป็นศูนย์ แม้จะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเพียงใดก็ตาม อีกทั้งมีแนวโน้มจะเพิ่มขั้นตอนราชการกับบริษัทต่างประเทศ ดังนั้น จึงไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนได้

 

ขณะเดียวกัน บริษัทจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง อย่างอาลีบาบาและเทนเซนต์ ราคาร่วงลงอย่างหนักมากกว่า 11% เลวร้ายที่สุดนับจากวิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2008