ห่วงอนาคตทุเรียนไทย แข่ง “เวียดนาม” เหมือนอยู่ในสนามรบ

ทันทีที่คำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ 20 ต.ค. 65 ลงนามโดย นายประยูร อินสกุล รองปลัดกระทรวง รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งโยกย้าย นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนัก (ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน วิชาการเกษตร) สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 จ.จันทบุรี (สวพ.6) กรมวิชาการเกษตร ไปดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการกอง (ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน วิชาการเกษตร) กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

สร้างความตระหนกตกใจให้คนในวงการผลไม้ภาคตะวันออก และภาคใต้ และการนัดรวมพลังเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนภาคตะวันออก ภาคใต้ เพื่อให้กำลังใจและยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีทบทวนการโยกย้ายนายชลธี ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของทุเรียนไทย ที่สามารถฝ่าวิกฤต ZERO COVID-19 ของจีนสำเร็จ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ และสร้างรายได้เข้าประเทศมากกว่า 1 แสนล้านบาท สำหรับปีนี้

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ชลธี นุ่มหนู” ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 ถึงมุมมองต่ออนาคตการส่งออกผลไม้ไทยไปตลาดจีน โดยเฉพาะทุเรียนที่เริ่มมีคู่แข่งมากขึ้น รวมถึงภาระงานที่ฝากต่อไปยัง ผอ.สวพ.6 คนใหม่ พร้อมกับแสดงความประสงค์ที่จะยื่นใบลาออก

เน้นคุณภาพเพื่อการส่งออก

 

นายชลธีย้อนเล่าการทำงานในฐานะ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จ.จันทบุรี (สวพ.6) ว่า ช่วง 3 ปีที่เป็นผู้อำนวยการ สวพ.6 ได้ให้ความสำคัญในการดูแลคุณภาพทุเรียนมาก โดยเน้นการแก้ปัญหาทุเรียนอ่อนที่เป็นปัญหามา 30 ปี โดยมีการตั้ง ทีมเล็บเหยี่ยว ทีมเฉพาะกิจที่ตรวจควบคุมทุเรียนอ่อน ด้อยคุณภาพ จนประสบความสำเร็จและเป็นโมเดลต้นแบบ ที่กรมวิชาการเกษตรนำไปขยายผลยัง สวพ.อื่น ๆ

ขณะเดียวกันก็มีการออกใบรับรอง GAP GMP ทำงานเชิงรุก และเมื่อจีนตรวจเข้ม ZERO COVID ต้องเพิ่มมาตรการตรวจโควิด-19 ในทุเรียนก่อนส่งออก โดยทำมาตรฐาน GAP Plus และ GMP Plus ทำให้การส่งออกทุเรียนปี 2565 ไม่มีปัญหา ขณะเดียวกันก็นำไปใช้เป็นแนวทางยกระดับ มังคุด ลำไย

เขาย้ำว่า เนื่องจากภาคตะวันออกมีผลไม้ส่งออกเสาหลัก 3 ชนิด คือ ทุเรียน มังคุด ลำไย ดังนั้นจึงต้องมุ่งสร้างความมั่นคงให้กับ 3 ขาบาลานซ์กัน ทุเรียนขยายพื้นที่ปลูกมาก ในช่วงผลผลิตมีปริมาณมาก ต้องระบายออกตลาดต่างประเทศ ต้องเผชิญกับคู่แข่งขันประเทศเพื่อนบ้าน มังคุดต้องมีการแปรรูป ลำไยต้องทำคุณภาพ

 

ที่สำคัญคือ จันทบุรี มีข้อได้เปรียบ คือ ส่งออกได้ 100% เพราะบังคับให้ผลผลิตออกได้ และเป็นที่ต้องการของตลาดจีน แต่ต้องควบคุมคุณภาพ

ขณะเดียวกัน การทำงานภาครัฐต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออก และอีกด้านหนึ่ง เจ้าหน้าที่ภาครัฐจะต้องช่วยสนับสนุนและทำให้การส่งออกไปถึงจีนที่เป็นปลายทางได้สะดวก รวดเร็วมากที่สุด เพราะหากส่งออกทำได้ช้า ชาวสวนเกษตรกรจะเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน

ทุเรียนไทยอยู่ในสนามรบ

พร้อมกันนี้ นายชลธียังแสดงความกังวลของการส่งออกทุเรียนไทยว่า ระยะ 2-3 ปีข้างหน้า ส่งออกทุเรียนไทยจะน่าเป็นห่วงมากขึ้น โดยปีหน้า (2566) ทุเรียนภาคตะวันออกมีปริมาณเกิน 1 ล้านตันแน่นอน และที่สำคัญคือจะต้องแข่งขันกับทุเรียนจากประเทศเวียดนาม การทำงานของ สวพ.6 เสมือนเป็นแม่ทัพที่อยู่ในสภาวะสงคราม รบกับทุเรียนอ่อน

 

เมื่อแม่ทัพถูกเปลี่ยนกลางคัน แม่ทัพใหม่จะประสานต่อกันได้หรือไม่ เป็นความกังวลใจ ถ้าในช่วงกระจุกตัว บริหารจัดการไม่ดี ระบายไม่ทัน ระบบโลจิสติกส์มีปัญหา ส่งออกไม่ได้จะมีผลต่อราคาตกต่ำ

จุดแข็งของทุเรียนไทย คือทุเรียนภาคตะวันออกเป็นที่ต้องการของตลาดจีน มีหลากหลายสายพันธุ์ คุณภาพ ตลาดยอมรับ ที่สำคัญคือต้องควบคุมคุณภาพไม่ให้มีทุเรียนอ่อนหลุดเข้าไปในตลาด ขณะที่เวียดนามได้เปรียบที่ขนส่งใกล้กว่า ตัดทุเรียนผลแก่ดีกว่า ทำให้เรามีจุดอ่อน

 

“การดูแลทุเรียนอ่อนที่เป็นจุดอ่อน มองภายนอกเหมือนไม่ยาก แต่จริง ๆ ไม่ง่าย ขณะเดียวกันก็มีความกดดันในการทำงาน มีเรื่องผลประโยชน์ การจ่ายสินบน ถ้าเจ้าหน้าที่ใจไม่แข็งพอ ภูมิคุ้มกันไม่ดี ไม่มีความซื่อสัตย์ การเรียกรับผลประโยชน์จะเป็นจุดอ่อนให้ถูกโจมตี”

ชาวสวน-ล้ง-รัฐต้องผนึกกัน

ที่ผ่านมา แนวทางการทำงานของ สวพ.6 อีกอย่างหนึ่งก็คือ การแบ่งล้ง หรือโรงคัดบรรจุ เป็น 3 ประเภท คือ ล้งดีมีคุณภาพ ต้องส่งเสริมอำนวยความสะดวก ล้งสุ่มเสี่ยง ต้องเข้าไปช่วยเหลือแนะนำ และล้งที่ไม่มีคุณภาพ ทำแต่ทุเรียนอ่อน ต้องเข้าไปควบคุมจัดการเด็ดขาด โดยที่ภาครัฐต้องส่งเสริมการผลิต ทำให้ผลไม้มีคุณภาพ ลดต้นทุนการผลิตที่เกินความจำเป็น

 

ตอนนี้สิ่งที่ห่วงมากที่สุด และฝากให้ ผอ.สวพ.6 คนใหม่ ช่วยสานต่อก็คือ 1) การสร้างความมั่นคงให้พืช 3 ชนิด ทุเรียน มังคุด ลำไย บาลานซ์กันเพื่อเป็นอาชีพของลูกหลาน ควบคู่กับการรักษาคุณภาพ

2) สนับสนุนการส่งออกให้มากที่สุด การออกใบรับรอง GAP เพื่อการส่งออกให้ครบ 100% ให้ทันฤดูกาลนี้ ซึ่งได้เตรียมการจะลงนามจริงไว้แล้ว 80,000 ฉบับ เพราะผลไม้อื่น ๆ ภาคตะวันออกส่วนใหญ่อีกหลายชนิดผลิตเพื่อส่งออก เช่น มะพร้าว ขนุน สับปะรด มะม่วง 3) การผลักดัน พ.ร.บ.มาตรฐานทุเรียนอ่อน กฎหมายรองรับควบคุมคุณภาพทุเรียน

“2 ปีที่ผ่านมา ทีมเล็บเหยี่ยว กรมวิชาการเกษตร ทำงานโดยไม่มีกฎหมายรองรับ อาศัยอำนาจตามประกาศผู้ว่าราชการจังหวัด ที่สำคัญเมื่อต้องชนกับผู้มีอิทธิพล ต้องเข้าไปช่วยน้อง ๆ ทีมงานในการเจรจาต่อรอง ซึ่งสร้างความหนักใจในการทำงาน”

 

นายชลธีกล่าวในตอนท้ายว่า จริง ๆ แล้ว ทุเรียนภาคตะวันออก มีพื้นที่ปลูกเพิ่มปีละมากกว่า 100,000 ไร่ เพราะเป็นพืชเศรษฐกิจที่เป็นความหวังของชาวสวน คนทำสวนมังคุด ลำไย โค่นมาปลูกทุเรียน เพราะมีราคาแพงกว่า ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไม่ดี ลูกหลานชาวสวนที่เรียนจบสูง ๆ กลับมาช่วยพ่อแม่ทำสวน

2) สนับสนุนการส่งออกให้มากที่สุด การออกใบรับรอง GAP เพื่อการส่งออกให้ครบ 100% ให้ทันฤดูกาลนี้ ซึ่งได้เตรียมการจะลงนามจริงไว้แล้ว 80,000 ฉบับ เพราะผลไม้อื่น ๆ ภาคตะวันออกส่วนใหญ่อีกหลายชนิดผลิตเพื่อส่งออก เช่น มะพร้าว ขนุน สับปะรด มะม่วง 3) การผลักดัน พ.ร.บ.มาตรฐานทุเรียนอ่อน กฎหมายรองรับควบคุมคุณภาพทุเรียน

“2 ปีที่ผ่านมา ทีมเล็บเหยี่ยว กรมวิชาการเกษตร ทำงานโดยไม่มีกฎหมายรองรับ อาศัยอำนาจตามประกาศผู้ว่าราชการจังหวัด ที่สำคัญเมื่อต้องชนกับผู้มีอิทธิพล ต้องเข้าไปช่วยน้อง ๆ ทีมงานในการเจรจาต่อรอง ซึ่งสร้างความหนักใจในการทำงาน”

 

นายชลธีกล่าวในตอนท้ายว่า จริง ๆ แล้ว ทุเรียนภาคตะวันออก มีพื้นที่ปลูกเพิ่มปีละมากกว่า 100,000 ไร่ เพราะเป็นพืชเศรษฐกิจที่เป็นความหวังของชาวสวน คนทำสวนมังคุด ลำไย โค่นมาปลูกทุเรียน เพราะมีราคาแพงกว่า ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไม่ดี ลูกหลานชาวสวนที่เรียนจบสูง ๆ กลับมาช่วยพ่อแม่ทำสวน

รวมทั้งมีแนวคิดต่อไปว่า ควรจัดตั้งสมาคมชาวสวนมังคุดเพิ่มมาด้วย เพื่อจะได้ครบพืชเสาหลัก 3 ชนิดของภาคตะวันออก เพราะที่ผ่านมาก็มี สมาคมชาวสวนลำไยจันทบุรี ขึ้นมา รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนทุเรียนที่ควรจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. เพื่อช่วยเหลือชาวสวนทุเรียน เช่นเดียวกับกองทุนสวนยาง กองทุนอ้อยฯ