บาทอ่อนต้นทุนส่งทางเรือพุ่ง “โลจิสติกส์ไทย” เสียเปรียบจีนแข่งขันไม่ได้
ไทยเจ้าภาพประชุม Global Shippers’ Alliance สภาผู้ส่งออกร่วมเวทีถกผู้นำเข้า-ส่งออกทั่วโลก 10-12 ต.ค.นี้ แก้ปม “ค่าระวางเรือ-ตู้คอนเทนเนอร์” หลังผลกระทบจากโควิด-19 สงครามการค้า หวั่นค่าเงินบาทอ่อนกระทบต้นทุนโลจิสติกส์ผู้ส่งออกไทยแพงกว่าจีน 65% แข่งขันไม่ได้
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า จากปัญหาค่าระวางที่เพิ่มขึ้น ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนจากหลายสาเหตุ ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก-นำเข้าทั่วโลกเป็นอย่างมาก ซึ่งผู้ส่งออก-ผู้นำเข้าต้องร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้
โดยในปีนี้ให้สภาผู้ส่งออกฯเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Global Shippers’ Alliance Annual Meeting 2022 & Asian Shippers’ Alliance Annual Meeting 2022 ในวันที่ 10-12 ตุลาคม 2565 นี้ที่ประเทศไทย เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันก่อนที่จะเสนอเข้าสู่เวทีระดับโลกอย่างองค์การการค้าโลก (WTO) การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) เพื่อพิจารณาช่วยเหลือแก้ไข
การประชุมนี้ได้เชิญผู้แทนของ Shippers’ Alliance ทั่วโลก ประกอบด้วยประเทศสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และประเทศในเอเชีย ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฮ่องกง บังกลาเทศ สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) มาเก๊า และศรีลังกา พร้อมกับหน่วยงานภาครัฐของไทย เช่น
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.), สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.), สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า และการท่าเรือแห่งประเทศไทย
เข้าร่วมประชุม แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์การขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศ ในชาติสมาชิก (Country Report) แนวทางการดำเนินการในการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์การขนส่งทางทะเลในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และสถานการณ์การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์การปรับเพิ่มขึ้นของอัตราค่าระวางในช่วงที่ผ่านมา รวมไปถึงการทำข้อตกลงร่วมกันในการจัดทำ Joint Statement เพื่อใช้เป็นแนวทางสำคัญในการแก้ไขปัญหาการขนส่งสินค้าทางทะเล
และผลักดันไปยังความร่วมมือในระดับสากล โดยเฉพาะประเด็นสำคัญ เช่น แผนการพัฒนาการขนส่งและโลจิสติกส์ภายในประเทศอาเซียน และประเทศในแถบ CLMV, แนวทางการดำเนินการของเกาหลีใต้ในประเด็นการสนับสนุนของภาครัฐ และแนวทางในการจัดการเรื่องอัตราค่าระวางเรือ เพื่อเป็นกรณีศึกษา, การสนับสนุนของภาครัฐของไทย และข้อเสนอการจัดตั้ง Global Fair-Trade Committee เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางการค้า โดยเฉพาะการกำหนดอัตราค่าระวางเรือ
นอกจากนี้จะหารือในประเด็น Bill of Cargo Right และ Logistics 4.0 & Digitalization, การศึกษาความคืบหน้าของแผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และการพัฒนาการขนส่งทางทะเลของไทย โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย รวมถึงการสรุปกิจกรรมที่ Global Shippers’ Alliance (GSA) จะดำเนินการในปี 2022-2023
นายชัยชาญกล่าวอีกว่า จากข้อมูลสถานการณ์ค่าระวางเรือทั่วโลก หรือ Shanghai Containerized Freight Index (SCFI) ได้มีการเปรียบเทียบอัตราค่าระวางระหว่างช่วงเดือนกันยายน 2565 ว่า แม้ค่าระวางปรับลดลงเกือบทุกเส้นทาง อาทิ เส้นทางที่ค่าระวางปรับลดลง
ได้แก่ เส้นทางยุโรป จาก 4,094 เหรียญสหรัฐต่อตู้ ลงมาอยู่ที่ 3,163 เหรียญสหรัฐต่อตู้ เส้นทางเมดิเตอร์เรเนียน จาก 4,659 เหรียญสหรัฐต่อตู้ ลงมาอยู่ที่ 3,249 เหรียญสหรัฐต่อตู้ เส้นทางอเมริกาฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก เส้นทางดูไบ เส้นทางออสเตรเลีย เส้นทางแอฟริกาฝั่งตะวันตกและตะวันออก เส้นทางแอฟริกาใต้
รวมถึงเส้นทางอเมริกาใต้ เส้นทางญี่ปุ่นฝั่งตะวันตกและตะวันออก และเส้นทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ปรับลดลงจากช่วงที่ผ่านมา แต่ก็มีบางเส้นทางที่ค่าระวางปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ เส้นทางเกาหลี จาก 235 เหรียญสหรัฐต่อตู้ เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 265 เหรียญสหรัฐต่อตู้
ขณะเดียวกันสถานการณ์ค่าระวางเรือจากไทยไปในเส้นทางหลัก ปรับลดลง เช่น สหรัฐ ค่าระวางเรือปรับลดลงจากต้นปีที่ผ่านมา จาก 75.89% ลงมาอยู่ที่ 47.41% หรือจาก 6,900 เหรียญสหรัฐต่อตู้ 40 ฟุต
“แต่ประเทศจีนมีอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินแข็งค่ากว่าไทย เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ไทยยังคงเสียเปรียบในเชิงต้นทุนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (ค่าระวางเรือ) ในตลาดคู่ค้าเดียวกัน อาทิ เส้นทางจากจีนไปยุโรป ค่าระวางอยู่ที่ 3,163 เหรียญสหรัฐต่อตู้ หากเส้นทางไทยไปยุโรป ค่าระวางอยู่ที่ 5,250 เหรียญสหรัฐ มีความแตกต่างถึง 65.98% โดยประเทศไทยยังมีความเสียเปรียบอยู่มาก”
ส่วนปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ผ่านเข้า-ออก จากประเทศไทย ตั้งแต่มกราคม-สิงหาคม 2565 ปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ที่ส่งออก 3,294,552 ล้านตู้ ลดลง 0.31% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อยู่ที่ 3,304,763 ล้านตู้ ส่วนปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ที่นำเข้า 2,441,546 ล้านตู้ ลดลง 2.73% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อยู่ที่ 2,510,055 ล้านตู้