สั่งเคลียร์พื้นที่แลนด์บริดจ์ ปักหมุดคลังน้ำมันยุทธศาสตร์รับวิกฤต

โครงการ เพิ่มบทบาทเป็นคลังน้ำมันยุทธศาสตร์สร้างเสถียรภาพด้านราคาพลังงานของประเทศ เตรียมความพร้อมเผชิญทุกวิกฤตในอนาคต

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ส่งผลกระทบทำให้ราคาน้ำมันแพง

เป็นอีกปัจจัยที่ควรเร่งพัฒนา “โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน (Landbridge ชุมพร-ระนอง)”ตามโครงการพัฒนา SEC-Southern Economic Corridors ที่จะมีการพัฒนาการขนส่งสินค้าชายฝั่ง เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์และส่งเสริมขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย

ล่าสุด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมลงพื้นที่สำรวจโครงการ โดยมอบนโยบายมาด้วยว่าโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนองเป็นการลงทุนภาครัฐขนาดใหญ่ จึงต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบที่มีต่อประชาชนในพื้นที่ จำเป็นต้องดูแลให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ในกรณีที่มีประชาชนได้รับผลกระทบจะต้องมีการชดเชยตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

“สถานการณ์ยูเครนเป็นเรื่องอุบัติใหม่ ผมได้สั่งการให้หน่วยงานคมนาคมทั้งหมดจะต้องทำงานแบบบูรณาการทั้งภายในและภายนอก เพื่อให้การพัฒนาสอดคล้องและไปในทิศทางเดียวกัน

รวมทั้งได้มอบหมายให้นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ประสานการทำงานร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในเรื่องเส้นทางโครงการแลนด์บริดจ์”

 

ทั้งนี้ โอกาสและความเป็นไปได้ของโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง มาจากคาพาซิตี้ของการรองรับปริมาณเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์เข้า-ออกผ่านช่องแคบมะละกา มีขีดความสามารถสูงสุดปีละ 120,000 ลำ

ปัจจุบันมีปริมาณเรือผ่านช่องแคบอยู่ที่ 85,000 ลำ/ปี ในขณะที่แนวโน้มอนาคตเศรษฐกิจจะเติบโตได้อีกมาก ทำให้ความต้องการขนส่งสินค้าเพิ่มมากขึ้น ปริมาณเรือคอนเทนเนอร์จึงมีโอกาสจะใช้ช่องแคบมะละกาจนเต็มคาพาซิตี้

 

ดังนั้น หากประเทศไทยมีการลงทุนสร้างแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนองตั้งแต่วันนี้ ซึ่งออกแบบให้สามารถขนส่งสินค้าระหว่างทะเลอันดามันกับอ่าวไทยได้เร็วขึ้น 4 วันเปรียบเทียบกับการอ้อมผ่านช่องแคบมะละกา จะเป็นจุดดึงดูดการลงทุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการขนส่งทางทะเลระดับโลก ให้เข้ามาร่วมลงทุนอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2568 ทำให้เพิ่มขีดความสามารถรองรับการขนส่งตู้สินค้าได้เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ถ้าหากสามารถเร่งรัดแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนองระยะที่ 1 ให้แล้วเสร็จตามแผนในปี 2572 จะทำให้เพิ่มขีดความสามารถประเทศไทยรองรับตู้สินค้าได้เพิ่มขึ้นถึง 1 เท่าตัว

“ถ้าแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนองแจ้งเกิดได้สำเร็จ เท่ากับประเทศไทยเริ่มต้นนับ 1 ได้แล้ว จากนั้นผมเชื่อมั่นว่าการลงทุนนับ 2 และ 3 ก็จะเกิดได้เร็วขึ้นเช่นกัน โครงการนี้เราพูดกันมานานแล้ว แม้ว่าจะมีหรือไม่มีสงคราม

หรือในอนาคตจะมีวิกฤตอะไรเกิดขึ้นอีกก็ตาม ผมมองว่าโครงการนี้ต้องเร่งสปีดแล้ว เพราะเป็นการต่อจิ๊กซอว์ครบวงจรของระบบโลจิสติกส์ที่มีทั้งการขนส่งทางราง มอเตอร์เวย์

 

และท่าเรือน้ำลึก ที่สำคัญมีระบบคลังน้ำมัน ระบบท่อน้ำมัน ล่าสุด ทางดูไบได้แสดงความชัดเจนว่าสนใจที่จะเข้ามาร่วมลงทุนด้วย ซึ่งหลังจากนี้เรามีแผนนำโครงการแลนด์บริดจ์ไปโรดโชว์ในต่างประเทศด้วย” นายศักดิ์สยามกล่าว