คมนาคมโรดโชว์ “ผู้นำเอเปก” ลงทุน MR-Map พ่วงแลนด์บริดจ์

เดือนกันยายนปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำเอเปก

นับเป็นเมกะอีเวนต์ระดับนานาชาติหลังยุคโควิด จัดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลก และเพื่อฟื้นความเชื่อมั่นในด้านการค้าการลงทุน โดย “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม นั่งหัวโต๊ะการประชุมนัดแรกของ “คณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกและการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกปี 2565” ครั้งที่ 1/2565
ที่มา : ประช่าชาติธุรกิจ

Open Connect Balance

ที่ประชุมได้พิจารณาและเห็นชอบสถานที่จัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกและการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และสถานที่จัดงานเลี้ยงอาหารค่ำ (gala dinner) เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำและคู่สมรส ณ หอประชุมกองทัพเรือ

โดยประเทศไทยได้เปิดศักราชใหม่ 2565 ในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปก และการเป็นผู้นำในการฟื้นฟูเศรษฐกิจทั่วภูมิภาค พร้อมปรับกระบวนทัศน์สู่การฟื้นฟูครั้งใหญ่รับความท้าทายหลังสถานการณ์โควิดที่ส่งแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก

ภายใต้แนวคิด “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” (open, connect, balance)

โดยเป็นการเปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ต่อทุกโอกาส เปิดโอกาสด้านการค้าการลงทุนในทุกมิติ ฟื้นฟูความเชื่อมโยงในทุกมิติหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกต้องหยุดชะงักและสร้างสมดุลในทุกแง่มุม

และมุ่งเน้นการเจริญเติบโตทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ครอบคลุม ยั่งยืน และคำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG economy (biocircular-green economy)

ประชุมขนส่งเอเปก #52

“ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมระบุว่า กระทรวงคมนาคมจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งของเอเปก ครั้งที่ 52 ระหว่างวันที่ 14-16 กันยายน 2565

โดยเวทีประชุมผู้นำเอเปกครั้งนี้ กระทรวงคมนาคมเตรียมนำเสนอโครงการสำคัญ ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นร่วมกันระหว่าง 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่

“โครงการ MR-Map” (การพัฒนาโครงข่ายมอเตอร์เวย์กับระบบราง) ซึ่งจะบูรณาการโครงข่ายการขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน

“โครงการ Southern Land Bridge ชุมพร-ระนอง” หรือแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง เพื่อลดระยะทางและพลังงานในการขนส่งสินค้าจากตะวันออกกลางมายังภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

นอกจากนี้ มีโครงการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งทางถนนมาเป็นระบบรางให้มากขึ้น ลดการใช้พลังงานและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ โครงการรถไฟทางคู่ และโครงการรถไฟความเร็วสูง

โปรเจ็กต์คมนาคม

การสนับสนุนการจัดทำแนวทางด้านการขนส่งคนและสินค้าตามมาตรฐานสากล อาทิ ICAO (องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ) และ IMO (International Maritime Organization-องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ) เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมโยงและความเชื่อมั่นในการเดินทางและการท่องเที่ยวภายหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 และรับมือกับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในอนาคต

ตลอดจนการส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภาคคมนาคมขนส่ง และนวัตกรรมที่เกี่ยวกับพลังงานสะอาด อาทิ เรือพลังงานไฟฟ้า รถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้า รถไฟพลังงานไฟฟ้า และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เป็นต้น