ส่งข้าวขึ้นรถไฟจีน-ลาวสุดคุ้ม “กล้าทิพย์” ประเดิมเปิดประตู “โรงสีอีสาน”

ส.ส่งออกข้าว จี้กระทรวงเกษตรฯเร่งรายชื่อผู้ส่งออกข้าวไปจีนลอต 2 ตีปี๊บเตรียมใช้ประโยชน์รถไฟจีน-ลาว ปักหมุดคุนหมิงกระจายลงใต้สู่ตลาดหลักกว่างโจว-เสิ่นเจิ้น ชี้ปัจจัยสำคัญต้องเทียบต้นทุนค่าขนส่งกับเรือคุ้มหรือไม่ “กล้าทิพย์” ประเดิมส่งข้าวหักเหนียว 500 ตันแรก ฟันธงเส้นทางรถไฟคุ้มค่า โอกาสผู้ส่งออกข้าวสายอีสานลุยจีน

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สมาคมเตรียมทำหนังสือถึงกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอให้เร่งรัดการประกาศรายชื่อผู้ส่งออกข้าวไทยที่สามารถส่งออกข้าวไปจีนได้ลอตที่ 2 จากปัจจุบันที่มีผู้ส่งออกข้าวไทยผ่านมาตรฐานของจีนประมาณ 49 โรงงานเท่านั้น เพื่อขยายตลาดส่งออกและใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟจีน-ลาวมากขึ้น

“ปัจจุบันกฎระเบียบในการส่งออกข้าว ผู้ส่งออกยังต้องขึ้นทะเบียนกับจีน จากนั้นทางจีนโดย CCIC จะมาตรวจสอบโรงงาน และจะได้รับหมายเลข (นัมเบอร์) ประจำตัว แล้วจึงจะสามารถส่งออกได้ เพื่อที่จีนจะสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงที่มาที่ไปของข้าวได้ ตอนนี้มีสมาชิกสมาคมที่ผ่านการตรวจรับรองตามมาตรฐานของจีน 49 ราย อยู่ระหว่างการรับรองผู้ส่งออกข้าวไทยลอตที่ 2 อีกหลายสิบราย คาดว่าจะประกาศได้เร็ว ๆ นี้”

สำหรับการใช้ประโยชน์เส้นทางรถไฟจีน-ลาว หลังจากที่เริ่มใช้อย่างเป็นทางการแล้วเมื่อเดือนธันวาคม 2564 ซึ่งในส่วนของสมาชิกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยส่วนใหญ่ยังไม่สามารถส่งออกผ่านเส้นทางรถไฟนี้ได้ แต่มั่นใจว่าน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ดีในอนาคต

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก คือ ต้นทุนค่าขนส่ง หากเทียบกับเส้นทางปกติที่ใช้ตู้คอนเทนเนอร์ส่งทางเรือไปยังท่าเรือทางใต้ เพื่อบรรทุกรถไฟเข้าสู่ตลาดค้าส่งกว่างโจวและเสิ่นเจิ้น แต่หากขนส่งไปทางรถไฟจีนจะขึ้นไปทางคุนหมิงแล้วจึงย้อนขนส่งกลับมาที่ตลาดขายส่งหลักที่อยู่ทางตอนใต้อีกทีด้วยรถไฟภายในประเทศจีนอีกทอดหนึ่ง

“หากถามว่าเส้นทางรถไฟจะเปลี่ยนอนาคตการขนส่งไหม ทั้งหมดขึ้นอยู่ที่ค่าใช้จ่าย โดยปกติจากแหลมฉบังเข้าไปจีนจะใช้เวลาไม่กี่วันและค่าเฟรตถูกกว่า แต่ปัจจุบันตู้คอนเทนเนอร์หายากและขาดแคลน ถ้าจะเข้าไปจีนผ่านเส้นทางรถไฟต้องส่งต่อไปที่หนองคายแล้วขนขึ้นรถไฟที่ลาว เพื่อไปที่คุนหมิงและกระจายไปในพื้นที่ต่าง ๆ ในจีน ซึ่งเรายังไม่ทราบค่าใช้จ่ายที่ชัดเจน ดังนั้น ทุกอย่างอยู่ที่ต้นทุน (cost) ส่วนเวลาขนส่งจะช้า-เร็ว 3 วัน หรือ 5 วันไม่ใช่ปัญหา หากค่าขนส่งรถไฟเปรียบเทียบแล้วคุ้มค่า เชื่อว่าจะเป็นออปชั่นหนึ่งในการส่งสินค้าไปจีน ซึ่งไทยต้องไปหาตลาดเพิ่มทางตอนเหนือ และมีโอกาสจะขยายการส่งออกเชื่อมจากจีนตอนเหนือไปยังประเทศใกล้เคียงเช่นรัสเซียได้”

 

อย่างไรก็ตาม เปรียบเทียบได้จากพื้นที่ประเทศจีนมีพื้นที่ขนาดใหญ่คล้ายกับการส่งออกไปสหรัฐที่จะขนส่งไปท่าเรืออเมริกาฝั่งตะวันตก (เวสต์โคสต์) เพื่อกระจายไปถึงแอลเอ ส่วนการไปลงท่าเรือฝั่งตะวันออก (อีสต์โคสต์) จะส่งไปถึงนิวยอร์ก แล้วจะลากรถไฟมาที่มิดเวสต์ว่าส่งไปที่แอลเอถูกกว่านิวยอร์กหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่าปลายทางแล้วจะต้องไปไหนต่อ ซึ่งถึงแม้ว่าจะให้เราขนส่งรถไฟขึ้นไปทางตอนเหนือลึกเข้าไปอีก แต่ถ้าโซนนั้นมันไม่ใช่ตลาดข้าวก็ไม่มีประโยชน์ แต่ก็ต้องลองไปทำตลาดดูว่าตรงนั้นสามารถขยายตลาดไปได้หรือไม่

“ท้ายที่สุดจะสะดวกถ้าเรามีรถไฟของเราเองจากกรุงเทพฯแล้วตรงไปเลย ตอนนี้เราต้องเอาของเราไปถึงลาวแล้วก็ลากข้ามไปเพราะรถไฟมันคนละอย่างกัน รางไม่เท่ากันก็ต้องยกข้ามไปรถไฟจีนกับลาวจากนั้นจึงจะเข้าไปเมืองจีนได้”

“เคสของการขนส่งข้าวไทยไปขึ้นรถไฟจีน-ลาว ตอนนี้การส่งออกมันไม่ใช่ regular เรื่องของกฎระเบียบปกติ เรื่องภาษีเราก็ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ถึงแม้ว่าจะมีเอฟทีเออาเซียน-จีนที่ภาษีเป็น 0% ส่วนกรณีที่หากมีการตรวจสอบทางลาวและจีนอย่างไร หากพบสารปนเปื้อนต่าง ๆ จะเป็นความผิดที่ใครยังตอบไม่ได้ เพราะไม่รู้เลยเรื่อง detail”

 

รายงานข่าวระบุว่า ตลาดจีนเป็นตลาดส่งออกข้าวอันดับ 2 ของไทย ในปี 2564 มีปริมาณการส่งออก 632,756 ตัน เพิ่มขึ้น 65.9% จากปี 2563 ที่มีปริมาณ 381,363 ตัน

นายพีรพล ประเสริฐชัยกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กล้าทิพย์ จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทได้รับคำสั่งซื้อข้าวหักเหนียวปริมาณ 500 ตัน จากผู้นำเข้าจีน ซึ่งตอนนั้นมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และมีการปรับค่าระวางเรือ

แต่ทางลูกค้าจำเป็นต้องใช้สินค้าด่วนจึงได้ตกลงซื้อกันในรูปแบบ FOB และลูกค้าช่วยประสานเรื่องการจัดตู้รถไฟในการส่งสินค้าลอตแรก จึงไม่สามารถระบุรายละเอียดเรื่องค่าใช้จ่ายในการขนส่งได้ ซึ่งตามหลักการแล้วเส้นทางรถไฟจะสามารถขนส่งไปจีนถึงบริษัทลูกค้าได้ภายใน 3 วัน เร็วกว่าเส้นทางเรือซึ่งต้องขนส่งไปลงเรือที่ท่าเรือแหลมฉบังใช้เวลา 5-7 วัน

“เบื้องต้นเส้นทางนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ส่งออกข้าวที่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากกว่าภาคอื่น เพราะระยะทางในการขนส่งเข้าลาวโดยรถบรรทุกจากหนองคาย เพื่อนำไปขึ้นรถไฟที่เวียงจันทน์และส่งออกไปจีน ตู้บรรทุกขนาด 25 ฟุต หากเป็นผู้ส่งออกภาคอื่นจำเป็นต้องพิจารณาเปรียบเทียบต้นทุนการขนส่งทางเรือกับเส้นทางนี้เทียบกัน และศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจสอบสินค้าการนำผ่านจากลาวไปจีนให้รอบคอบ ในส่วนของเราประเมินว่าการส่งออกสินค้าลอตแรกมีความคุ้มค่า และมีโอกาสที่จะพิจารณาใช้วิธีนี้ต่อไปในอนาคต”

 

ทั้งนี้ บริษัท กล้าทิพย์ เป็นหนึ่งใน 49 โรงงานที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลจีนในการส่งออก มีการทำการค้ากับจีนมานานนับ 10 ปีแล้ว และทำโรงสีด้วย