สงครามทุบส่งออกแสนล้าน โลจิสติกส์ป่วนบริษัทเรือ “งดรับสินค้า”
สงครามรัสเซีย-ยูเครนฟาดหางส่งออกไทยปี’65 สภาผู้ส่งออกชี้ไตรมาส 2 วูบเฉียด 1 แสนล้าน หั่นเป้าทั้งปีเหลือแค่ 5% เตือนเอกชนตั้งรับผลกระทบทางอ้อมรุนแรง หลังท่าเรือรัสเซียปิด แห่ย้ายพอร์ส่งผ่าน “ท่าเรือยุโรป” แทน ระบบโลจิสติกส์ปั่นป่วนเกิดปัญหาคอขวด สายการเดินเรือส่งสัญญาณชะลอรับส่งสินค้า ทั้งค่าระวางเรือสูงลิ่ว ขณะที่ยุโรป-สหรัฐปรับลดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หวั่นคำสั่งซื้อใหม่เดือน พ.ค.ร่วง ส.อ.ท.จี้รัฐวางมาตรการช่วยเอกชนอ่วมต้นทุนพุ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรฯชี้ส่งออกโตต่ำกดดันจีดีพี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังยืดเยื้อบานปลาย แม้จะอยู่ในพื้นที่วงจำกัดแต่กระทบลามถึงเศรษฐกิจโลก กดดันราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งทะลุ 100 เหรียญสหรัฐ สูงสุดในรอบ 14 ปีไปแล้ว ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและขนส่งสินค้า กระทบถึงการส่งออกไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
- ส่องค่าเทอม 10 โรงเรียนเอกชนชื่อดัง กทม. ผู้ปกครองจ่ายกันเท่าไหร่ ?
- ครม. เคาะลดอัตราส่งเงินสมทบ ประกันสังคม ม.33 เหลือ 1%
- ผู้ประกันตน ม.33-39-40 ยื่นเบิก “เงินขาดรายได้” หลังหายป่วยโควิด
วิกฤตยูเครนหั่นเป้าส่งออก
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สรท.คาดการณ์ส่งออกของไทยในปี 2565 อาจจะขยายตัวได้แค่ 5% จากเดิมคาดไว้ว่าจะขยายตัว 5-8% จากผลกระทบปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนต่อการส่งออกทั้งทางตรงและทางอ้อม
โดยผลกระทบทางตรงขณะนี้ ท่าเรือสำคัญของรัสเซียที่ตั้งอยู่ในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในทะเลบอลติก ท่าเรือโนโวรอสซิกในทะเลดำ และท่าเรือวลาดิวอสตอกในตะวันออกไกลของรัสเซีย ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ ดังนั้นการขนส่งสินค้าทางเรือเข้ารัสเซียจำเป็นต้องขนส่งสินค้าผ่านไปยังประเทศที่ 3 แล้วขนย้ายขึ้นไปส่งสินค้าทางบกต่อ ทำให้เกิดความยากลำบากในการขนส่ง
ขณะที่การขนส่งทางอากาศไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือการเดินทางระหว่างประเทศไปยังรัสเซีย ก็ไม่สามารถเดินทางได้ ขณะที่การขนส่งสินค้าเข้า-ออกประเทศยูเครน ก็ปิดบริการมาแล้ว 2-3 สัปดาห์ ตั้งแต่มีปัญหาสงครามระหว่างกัน แม้ว่าประเมินผลกระทบทางตรงจากการส่งออกสินค้าไทยไปรัสเซียและยูเครน อาจมีมูลค่าไม่มากประมาณ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี โดยไทยส่งออกไปยูเครนมูลค่าประมาณ 800 ล้านเหรียญสหรัฐ
“ผลกระทบทางอ้อมมองว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง โดยการส่งออกสินค้าเข้ารัสเซียและยูเครนมีปัญหา หากจำเป็นต้องส่งออกสินค้าจะต้องดำเนินการผ่านประเทศฝั่งยุโรปแทน ปัจจุบันก็พบว่าไม่ได้สะดวกมาก เนื่องจากมีการปิดเส้นทางการขนส่งในเฉพาะพื้นที่ หากยังมีการปิดเส้นทางขนส่งและจากการตอบโต้มาตรการแซงก์ชั่นก็จะส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจไม่เติบโต โดยล่าสุดประเทศในกลุ่มยุโรปเริ่มประกาศปรับลดการเติบโตเศรษฐกิจจากปัญหาที่เกิดขึ้น เยอรมนีซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจหลักก็มีแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะหดตัวในปีนี้ มีผลต่อรายได้ ความต้องการนำเข้าสินค้า ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในปีนี้”
สายเรืองดรับสินค้า
นายชัยชาญกล่าวว่า ขณะนี้เริ่มพบว่าสายการเดินเรือหลายบริษัทงดรับสินค้าไปยังเส้นทางประเทศยูเครน และรัสเซีย ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนในการขนส่งสินค้าเส้นทางนี้ รวมถึงเส้นทางยุโรปทั่วไปด้วย รวมถึงความลำบากในการจัดสรรเรือในเส้นทาง ส่วนเส้นทางสหรัฐอเมริกาก็พบปัญหาคอขวดด้านซัพพลายเชนอีก
“ที่สำคัญ ปัญหาการหมุนเวียนตู้คอนเทนเนอร์เริ่มจะชะลอตัวมากขึ้น หลังจากการปรับเปลี่ยนเส้นทางขนส่งสินค้าเข้ายุโรป เนื่องจากปัญหาการปิดเส้นทางเดินเรือเข้ารัสเซีย ทำให้เกิดปัญหาแออัดของท่าเรือขนส่งสินค้ามากขึ้น ต้องใช้ระยะเวลาขนถ่ายยาวนาน บวกกับปัญหาการหมุนเวียนขนส่งสินค้าจากจีน ซึ่งเป็นผู้ใช้ตู้รายใหญ่ก็ยังมีความแออัด เนื่องจากนโยบาย Zero COVID ของจีน ทำให้การตรวจสอบล่าช้ายิ่งขึ้น”
ทั้งนี้แม้ว่าจะมีความพยายามเพิ่มปริมาณซัพพลายตู้คอนเทนเนอร์ในตลาดโลก ด้วยการต่อเรือขนส่งสินค้าเข้ามาเสริมสู่ระบบมากขึ้น แต่การต่อเรือต้องใช้ระยะเวลา 2 ปี ซึ่งคาดว่าจะมีเรือมาให้บริการมากขึ้นได้ช่วงปลายปี 2566 หรือในปี 2567
คำสั่งซื้อรอบใหม่ชะลอตัว
“แม้ว่าภาพการส่งออกล่าสุดจะยังเห็นตัวเลขขยายตัว เนื่องจากเป็นคำสั่งซื้อเดิมที่อยู่ระหว่างการส่งมอบสินค้า แต่ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2565 จากปัญหาต่าง ๆ ทั้งด้านการขนส่งสินค้า รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะยุโรป จะทำให้การส่งออกในช่วงไตรมาส 2 (เม.ย.-มิ.ย. 2565) หายไปเฉลี่ยเดือนละ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือรวมประมาณ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท 99,000 ล้านบาท
และที่สำคัญ ยังกังวลว่าคำสั่งซื้อใหม่ซึ่งจะต้องเข้ามาในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2565 จะชะลอตัวมากน้อยเพียงใด เพราะความไม่แน่นอนยังสูงจากการขนส่ง และปัญหาด้านต้นทุนการขนส่งก็ยังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าระวางเรือซึ่งคาดว่าจะทรงตัวสูงไปจนถึงสิ้นปี 2565”
นายชัยชาญกล่าวว่า ผู้ส่งออกไทยต้องเตรียมรับมือปัญหาค่าระวางเรือที่มีแนวโน้มราคาที่สูงขึ้นต่อเนื่อง เพราะผลกระทบทางตรงจากสงครามที่มีผลต่อราคาน้ำมัน แม้ตอนนี้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะปรับตัวลดลงจาก 120 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 100-105 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ยังไม่สามารถทำให้ค่าระวางเรือปรับตัวลดลงได้ และยังมีผลต่อเส้นทางเดินเรือที่เอกชนต้องวางแผนและเจรจากับผู้นำเข้าล่วงหน้า ถือเป็นต้นทุนสำคัญในการขนส่งสินค้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเดิม สรท.คาดการณ์ปี 2565 การส่งออกจะขยายตัว 5-8% จากปีก่อนมูลค่าส่งออกอยู่ที่ 271,314 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหากขยายตัวได้ตามเป้า 8% มูลค่าการส่งออกจะอยู่ที่ 293,020 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่หากส่งออกขยายตัวได้แค่ 5% จะมีมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 284,880 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือหายไป 8,140 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 268,620 ล้านบาท (33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ)
ค่าระวางเส้นทางยุโรปพุ่ง
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยเปรียบเทียบค่าระวางเรือ หรือค่าเฟรต (freight) จากไทยไปยังสหภาพยุโรป ก่อนและสงครามรัสเซีย-ยูเครน พบว่าเดือน ก.พ. 2565 ค่าระวางเรือขนาดตู้ 40 ฟุต เฉลี่ยอยู่ที่ 14,300 เหรียญสหรัฐ ปรับขึ้นประมาณ 1,000 เหรียญสหรัฐต่อตู้ จากช่วงก่อนเกิดสงครามเฉลี่ยประมาณ 13,300 เหรียญสหรัฐ (อัตราค่าระวางเดือน พ.ย. 2564 ที่ 13,200 เหรียญสหรัฐ, เดือนธันวาคม 13,200 เหรียญสหรัฐ และมกราคม 13,600 เหรียญสหรัฐ)
ขณะที่ค่าระวางตู้ขนาด 20 ฟุต ปัจจุบันอยู่ที่ 8,200 เหรียญสหรัฐต่อตู้ เทียบกับก่อนเกิดสงคราม เฉลี่ยที่ 7,700 เหรียญสหรัฐต่อตู้ (อัตราค่าระวางเดือน พ.ย. 2564 อยู่ที่ 7,400 เหรียญสหรัฐ, ธ.ค. 2564 อยู่ที่ 7,700 เหรียญสหรัฐ และ ม.ค. 2565 อยู่ที่ 8,200 เหรียญสหรัฐ)
นอกจากนี้ เส้นทางอื่น ๆ ก็มีการปรับขึ้นเช่นกัน เช่น สหรัฐฝั่งตะวันออก ตู้ขนาด 20 ฟุต ปรับจาก 13,000 เหรียญสหรัฐ เป็น 13,360 เหรียญสหรัฐ ตู้ขนาด 40 ฟุต ปรับจาก 16,500 เหรียญสหรัฐ เป็น 17,500 เหรียญสหรัฐ เส้นทางญี่ปุ่น ตู้ขนาด 20 ฟุต ปรับจาก 500 เหรียญสหรัฐ เป็น 650 เหรียญสหรัฐ ตู้ขนาด 40 ฟุต ปรับจาก 1,000 เหรียญสหรัฐ เป็น 1,300 เหรียญสหรัฐ เป็นต้น
นอกจากปัญหาค่าระวางเรือสูงขึ้นแล้ว ยังพบปัญหาระวางเรือเต็ม และปัญหาความหนาแน่นบริเวณท่าเรือปลายทาง โปรดตรวจสอบข้อมูลก่อนการจอง และวางแผนการจองล่วงหน้า
ส.อ.ท.มึนปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน
ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ปัญหาต้นทุนการผลิตและส่งออกของภาคเอกชนปรับสูงขึ้นมาก ทั้งต้นทุนวัตถุดิบ ค่าไฟ ค่าระวางเรือ และต้นทุนโลจิสติกส์ ซึ่งไม่ได้เพิ่งปรับขึ้น แต่ปรับมาโดยตลอดแล้วก่อนหน้านี้ ปัญหาสงครามไม่ใช่เพียงจะกระทบราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกให้ปรับตัวสูงขึ้น จนกดดันให้ผู้ผลิตปรับราคา เกิดปัญหาเงินเฟ้อ
แต่ปัญหานี้อาจจะกระทบต่อภาพรวมคืออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในยุโรปชะลอ ซึ่งมีผลต่อกำลังซื้อความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยด้วย ซึ่งรัฐควรมีมาตรการเข้ามาช่วยเหลือ โดยการดูแลต้นทุนการผลิตในส่วนที่ภาครัฐสามารถตรึงไว้ได้ เช่น ค่าไฟ ค่าน้ำ ซึ่งจะช่วยชะลอผลกระทบ
“ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมล่าสุดปรับตัวลดลง เพราะเอกชนกังวลปัญหาปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจคู่ค้า สิ่งที่ภาคเอกชนผลักดันคือขอให้รัฐกระตุ้นรายได้ในส่วนของภาคการท่องเที่ยวที่ซบเซามาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว
โดยการเปิดประเทศเพื่อฟื้นรายได้จากการท่องเที่ยวที่จะมาช่วยเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะพิจารณาหรือไม่ ซึ่งการเสนอดังกล่าวไม่ใช่เราไม่ห่วงผลกระทบจากการแพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้น แต่เราประเมินเทียบกับเกาหลีใต้ที่มีอัตราการแพร่ระบาดสูงวันละหลักแสน แต่ก็กลับมาเปิดประเทศ โดยรัฐบาลเพิ่มมาตรการป้องกันและลดการแพร่ระบาด พร้อมทั้งเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้มากขึ้น”
เร่งส่งออกข้าวก่อนค่าเฟรตขึ้นอีก
ด้าน ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับสูงขึ้นมาก ซึ่งอาจจะมีผลต่อการปรับค่าระวางเรือรอบใหม่ จากก่อนหน้านี้ผลกระทบจากโควิด-19 ก็ทำให้ค่าระวางเรือขยับขึ้นไปแล้ว 5-6 เท่าตัว ทำให้ผู้นำเข้าข้าวไทยเร่งรัดให้ผู้ส่งออกเร่งส่งออกข้าวเร็วขึ้นจากที่ตกลงรับมอบไว้ เพื่อไม่ต้องการแบกรับภาระต้นทุนค่าระวางเรือที่ปรับเพิ่มอีกรอบ ขณะที่ค่าระวางเรือแบบเทกองมีการปรับขึ้นประมาณ 20%
ส่งออกโตต่ำ-กดดันจีดีพี
นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหาการขนส่งสินค้าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นต่อเนื่องก่อนจะมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน เช่น การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ค่าระวางเรือที่เพิ่มขึ้น และล่าสุดมีปัญหาจีนออกกฎคุมเข้มโควิด-19 เมืองเสิ่นเจิ้น ซึ่งปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้เข้ามาซ้ำเติมภาคการส่งออกของไทยที่อาจกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ได้
จากเดิมก่อนจะเกิดสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ปัญหาด้านการขนส่ง หรือปัญหาคอขวดที่เกิดขึ้นจะสามารถคลี่คลายได้เร็ว และเศรษฐกิจโลกน่าจะขยายตัวได้ดีขึ้น แต่ล่าสุดสหรัฐออกมาปรับลดประมาณการเศรษฐกิจเหลือขยายตัว 2.8% และสหภาพยุโรปขยายตัวได้ราว 2% ซึ่งจะมีผลต่อความต้องการสินค้าลดลง
ทั้งนี้ จากปัจจัยปัญหาคอขวดการขนส่งสินค้าที่ไม่ได้คลี่คลายเร็ว และเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยปรับลดลง จากเดิมศูนย์วิจัยประเมิน ณ เดือน ธ.ค. 64 มองว่า การส่งออกจะขยายตัวได้ในระดับ 4.3% ปัจจุบันน่าจะขยายตัวต่ำกว่า 4% ขณะที่การเติบโตเศรษฐกิจเดิม มองขยายตัวได้ 3.7% คาดว่าจะขยายตัวต่ำกว่า 3% จากปัญหาเงินเฟ้อในประเทศที่เร่งตัวขึ้น วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนที่ทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น กระทบต่อการใช้จ่ายของภาคประชาชน และนักท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว และผลกระทบจากปัญหาแซงก์ชั่นที่คาดว่าจะลากยาวทั้งปี
“เรามองว่าปัญหาเรื่องโลจิสติกส์จะทำให้การส่งออกสินค้าล่าช้าออกไป หรือเกิดการเหลื่อมเดือนแค่นั้น แต่ความต้องการสินค้ายังมีอยู่ ส่วนค่าระวางเรือที่เพิ่มขึ้นจะกระทบต่อกำไรขาดทุนของผู้ส่งออกและนำเข้า แต่ปัจจัยเสี่ยงทั้งหมดจะกระทบต่อภาคการส่งออกที่น่าจะขยายตัวลดลงจาก 4.3% เหลือต่ำกว่า 4% และมีผลต่อจีดีพีปรับลดลงด้วย” นางสาวณัฐพรกล่าว