ไทย หาช่องเชื่อมรถไฟจีน-ลาว เสริมแกร่งข้ามแดน ‘ขนคน-ขนของ’
วันชาติ สปป.ลาว 3 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ปฐมฤกษ์เดินรถไฟจีน-ลาว ประเทศไทยตกขบวนจริงหรือไม่
หนึ่งในผู้ให้คำตอบได้ดีที่สุด คือ กระทรวงคมนาคม นำโดย “เสี่ยโอ๋-ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งได้ออกมาประกาศเสียงดังฟังชัดทะลุไมค์ว่า คมนาคมได้เตรียมความพร้อมเต็มที่เพื่อก้าวสู่ปี 2565 ไปด้วยกัน
ที่มา: ประชาชาติ
ตั้ง “รองปลัดไพฑูรย์” ดูแล
ทั้งนี้ จากการที่ “สปป.ลาว-สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว” ร่วมกับ “สาธารณรัฐประชาชนจีน” ได้เปิดใช้งานรถไฟความเร็วปานกลาง เส้นทางลาว-จีน ช่วงเวียงจันทน์-บ่อเต็น เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา
การเตรียมความพร้อมฝั่งไทยในความรับผิดชอบกระทรวงคมนาคม คือ การสร้างการเชื่อมต่อการเดินทางจาก จ.นครราชสีมา ไป จ.หนองคาย ก่อนเชื่อมกับ สปป.ลาว และไปสิ้นสุดที่ประเทศจีน
โดยตั้งทีมงานร่วมกันระหว่าง 2 หน่วยงานระบบราง “ขร.-กรมการขนส่งทางราง” กับ “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” และมอบหมายให้ “สรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์” รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นผู้เดินทางไปเก็บข้อมูลที่ประเทศลาวให้ชัดเจน
ปัจจุบันมีดาต้าเบสบางส่วนแล้ว อยู่ระหว่างแปลเอกสาร 3 ภาษา (ไทย-ลาว-อังกฤษ) เพื่อลงนามรับรอง
เพิ่ม 14 ตู้ขบวนขนส่งสินค้าไทย-ลาว
เบื้องต้นจะเพิ่มขบวนรถไฟที่ขนส่งสินค้าระหว่างไทย-ลาว จากวันละ 4 ขบวนเป็น 14 ขบวน ภายในเดือนมกราคม 2565 นี้
นอกจากนี้มีการรวบรวมข้อมูลจากฝั่งเอกชนเพื่อสำรวจดีมานด์ว่ามีความต้องการขนส่งสินค้าเท่าใด เนื่องจากปัจจุบันแม้จะมีขบวนรถไฟขนส่งสินค้าระหว่างกัน 4 ขบวน แต่การขนส่งจากไทยไปลาวยังไม่เต็มศักยภาพ อาจเพราะการประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง จึงจะเชิญเอกชนในหลาย ๆ ภาคส่วนมาร่วมให้ความคิดเห็น และรับฟังความต้องการ
รวมทั้งจะหารือข้ามกระทรวง ประกอบด้วย “กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ในประเด็นการค้าขายเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันว่าอะไรคือโปรดักต์แชมเปี้ยน สินค้าสำคัญที่ต้องนำเข้า-ส่งออก โดยกระทรวงคมนาคมรับบทบาทภารกิจอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคมขนส่ง
เร่งไฮสปีดโคราช-หนองคาย
ส่วนโครงการอื่น ๆ ที่จะเพิ่มศักยภาพของการเชื่อมต่อการเดินทาง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรน เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคภายใต้โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย
เฟสแรก ลงทุนเส้นทางช่วงกรุงเทพฯ-โคราช และมีแผนงานที่จะก่อสร้างระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทางทั้งสิ้น 356 กิโลเมตร
ขณะนี้มีความคืบหน้าโครงการในด้านการออกแบบแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA-environment impact assesstment)
คาดว่าจะสามารถเสนอบรรจุวาระที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในปี 2565 ตามแผนแม่บทคาดว่าเปิดใช้บริการได้ในปี 2571
จุดโฟกัสอยู่ที่นับรวมการลงทุนระยะที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงสำคัญที่ระบบรางสายนี้จะข้ามฝั่งโขง ช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ ระยะทาง 16 กิโลเมตรด้วย
ลงทุน “ทางรถไฟข้ามฝั่งโขง”
แผนการลงทุนรัว ๆ ของกระทรวงคมนาคม เพื่อพัฒนาโครงข่ายอินฟราสตรักเจอร์ยังรวมถึงกำลังพัฒนาเส้นทาง “รถไฟทางคู่” ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อพัฒนาระบบการขนส่งในพื้นที่ภาคอีสานให้เชื่อมโยงและครอบคลุมเชื่อมโยงทุกเครือข่าย ช่วยอำนวยความสะดวก รวดเร็ว ให้ประชาชนในการเดินทาง
นอกจากโครงการทางรางแล้ว ยังมีแผนงาน ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ห่างจากสะพานเดิม 30 เมตร โดยจะก่อสร้างเป็นสะพานสำหรับรถไฟโดยเฉพาะ โดยออกแบบให้มีทั้งรางขนาดกว้าง 1 เมตร และกว้าง 1.435 เมตร ซึ่งจะทำเป็นทางคู่ด้วย วัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพการขนส่ง 15 ตู้ เป็น 30 ตู้
ความคืบหน้า กระทรวงการต่างประเทศกำลังประสานกับทางการลาว เพื่อเปิดด่านพรมแดนในเดือน ม.ค. 2565 ก่อน หลังจากนั้นจึงจะมีการหารือในประเด็นนี้ร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม ผลจากการที่ สปป.ลาวยังไม่เปิดด่านพรมแดน ทำให้กำหนดการวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) วงเงิน 3,930 ล้านบาท จากเดิมกำหนดเป็นวันที่ 27 ธ.ค. 2564 จำเป็นต้องเลื่อนออกไปก่อน