Maersk รุก “อีคอมเมิร์ซ” บิ๊กดีลซื้อโลจิสติกส์ฮ่องกง

การระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนโลก รวมถึงการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางเรือก็ต้องสะดุดเช่นกัน สืบเนื่องจากหลายปัจจัย นอกเหนือจากสถานการณ์ระบาด

ทีมา: ประชาชาติธุรกิจ

 อย่างไรก็ตาม แม้ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกจะสะดุด แต่ก็ไม่ได้ทำให้การเติบโตของภาคธุรกิจขนส่งทางเรือต้องสะดุดตามไปด้วย ในทางกลับกันภาคธุรกิจเหล่านี้มีเปอร์เซ็นต์การเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงการระบาด เนื่องจากความต้องการสินค้าต่าง ๆ ที่พุ่งสูงขึ้น ความต้องการในภาคขนส่งก็สูงขึ้นตามเช่นกัน

สำนักข่าวบลูมเบิร์กเปิดเผยว่า “เมอส์ก” (Maersk) ยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจขนส่งทางเรือสัญชาติเดนมาร์ก เปิดเผยว่า กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาขั้นตอนสุดท้ายของการซื้อกิจการ “LF Logistics” บริษัทจัดการคลังสินค้ายักษ์ใหญ่ของเอเชีย ที่มีศักยภาพด้านการจัดการศูนย์กระจายสินค้าแบบครบวงจร ด้วยมูลค่าสูงถึง 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 120,000 ล้านบาท

ถือเป็นดีลซื้อกิจการมูลค่าสูงเป็นอันดับ 2 ของเมอส์ก นับตั้งแต่การเข้าซื้อหุ้นของบริษัทเดินเรือ Hamburg Sued มูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2560

การสยายปีกรุกตลาดโกดังสินค้าและซัพพลายเชนแบบครบวงจรนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่บริษัทชิปปิ้งสัญชาติเดนมาร์กกำลังหาวิธีก้าวข้ามจากธุรกิจขนส่งทางเรือไปเป็นหนึ่งในผู้เล่นด้านขนส่งของตลาดอีคอมเมิร์ซอย่างครบวงจร ตั้งแต่ทางเรือ ทางบก และทางอากาศ ซึ่งทำกำไรได้มากกว่าธุรกิจตู้คอนเทนเนอร์ทางทะเลแบบเดิม

โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เมอส์กได้ประกาศแผนเข้าซื้อบริษัทขนส่งทางอากาศ “Senator International” ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษด้านการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางเครื่องบิน เนื่องจากความเร่งด่วนในแง่ห่วงโซ่อุปทานที่ตู้คอนเทนเนอร์ทางทะเลใช้ระยะเวลานานกว่าการขนส่งทางเครื่องบิน

หากดีลนี้สำเร็จจะทำให้เมอส์กมีพนักงานในเครือเพิ่มขึ้นอีกราว 10,000 คน และเป็นเจ้าของคลังสินค้ามากกว่า 200 แห่งใน 14 ประเทศ ทั้งคาดว่าจะเพิ่มรายได้ประจำปีในธุรกิจโลจิสติกส์และบริการที่เกี่ยวข้องประมาณไม่น้อยกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ จากการซื้อกิจการโลจิสติกส์รายใหญ่ของฮ่องกง

Soren Skou ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเมอส์ก เผยกับไฟแนนเชียลไทมส์ว่า “ดีลนี้เสมือนการวางเดิมพันครั้งใหญ่ในเอเชีย รวมถึงการเติบโตในระยะยาว ข้อตกลงนี้จะทำให้บริษัทเข้าถึงบริการด้านโลจิสติกส์ต่อผู้บริโภคในเอเชียได้มากขึ้น”

“เป็นอีกก้าวหนึ่งที่ห่างไกลจากการเป็นแค่สายการเดินเรือ สู่การเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์แบบบูรณาการ”

 

หากดีลสำเร็จเมอส์กจะกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ LF Logistics แทนที่บริษัท “Li & Fung” ซึ่งปัจจุบันถือหุ้น 78.3% และเทมาเส็ก โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นเจ้าของหุ้นส่วนที่เหลือ ธุรกรรมดังกล่าวทำให้ LF Logistics โดย
มูลค่าตกลงซื้อขายมีมูลค่ามากกว่าสองเท่าของราคาที่ประเมินไว้เมื่อสองปีที่แล้ว

 

การเข้าซื้อกิจการโลจิสติกส์รายใหญ่เกิดขึ้นในช่วงที่เมอส์กมีผลกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากอัตราค่าระวางขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ที่เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า เนื่องจากปัญหาคอขวดด้านห่วงโซ่อุปทานที่ทำให้ความสามารถในการขนส่งสินค้าทางเรือทั่วโลกลดลง 15%

 

ตามการประมาณการของนักวิเคราะห์คาดว่า “เมอส์ก” จะมีกำไรสุทธิในปีนี้ 17,000 ล้านดอลลาร์ มากกว่ารายได้สุทธิปีที่ผ่านมาถึง 6 เท่า สอดคล้องกับเลขผลกำไรไตรมาส 3 ของปี 2564 ที่เมอส์กเปิดเผยว่า อยู่ที่ 5,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สื่อต่างประเทศบางแห่งชี้ว่าเป็นไตรมาสที่เมอส์กทำกำไรได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของบริษัทร่วม 117 ปี

 

วิกฤตซัพพลายเชนและการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ทำให้การขนส่งทั่วโลกสะดุด ทว่าในวิกฤตนี้กลับทำให้บรรดาบริษัทขนส่งทางทะเลมีรายได้สูงขึ้น จากการเก็บค่าขนส่งสูงขึ้น พร้อมกันนี้ ช่วงกลางเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา เมอส์กได้ประกาศว่าเตรียมจ่ายโบนัสก้อนใหญ่ให้แก่ลูกจ้างทั่วโลกที่มีจำนวนร่วม 80,000 คน รายละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 33,000 บาท

 

ทั้งนี้ คาดว่าเมอส์กสามารถปิดดีลซื้อ LF Logistics ได้ภายในปี 2565 โดยอยู่ระหว่างขั้นตอนรอการอนุมัติด้านกฎระเบียบต่าง ๆ ขณะเดียวกัน MSC Group ยักษ์ใหญ่สายการเดินเรือสัญชาติอิตาลี-สวิส ที่ครองส่วนแบ่งตลาดชิปปิ้งโลกเป็นอันดับ 2 รองจากเมอส์ก ก็ได้เสนอเข้าซื้อกิจการในโลจิสติกส์และท่าเรือในแถบแอฟริกา จากบริษัท Bollore Group ด้วยมูลค่าสูงถึง 6.4 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งมีรายงานว่าเมอส์กให้ความสนใจยื่นเสนอราคาแข่งด้วยเช่นกัน