จับตาอิทธิฤทธิ์ “อาร์เซป” ดันเศรษฐกิจอาเซียนโต
นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2022 ความตกลงเพื่อจัดตั้งเขตการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่เรียกว่า “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค” หรือ “อาร์เซป” เริ่มมีผลบังคับใช้
อาร์เซปได้ชื่อว่าเป็น “เทรดดีล” หรือความตกลงทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกเพราะครอบคลุมตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรอยู่มากถึง 2,200 ล้านคน รวมจีดีพีของชาติสมาชิกเข้าด้วยกันแล้ว คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของเศรษฐกิจโลก
อาร์เซปประกอบด้วยชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) 10 ชาติ บวกกับอีก 5 ชาติที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่โตอย่างจีน, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
ความตกลงอาร์เซปถูกออกแบบมาเพื่อขจัดอุปสรรคทางการค้าในรูปของภาษีศุลกากรระหว่างชาติสมาชิกลงในหมวดหมู่สินค้าที่ครอบคลุมราว 90% ของสินค้าทั้งหมด พร้อมกันนั้นก็ต้องดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันและกัน เปิดช่องให้มีการไหลเวียนของบุคลากร แรงงาน และเทคโนโลยี ภายในกลุ่มชาติสมาชิกให้สะดวกและง่ายดายยิ่งขึ้น ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การค้า การลงทุน ทั้งหลายถูก “ดิสรัปต์” อย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์คาดหวังว่า “อาร์เซป” จะยังประโยชน์มหาศาลให้กับชาติสมาชิก เอื้อให้ประเทศที่เป็นสมาชิก สามารถปรับเปลี่ยนสร้างความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์ของตนเองได้ โดยมีตลาดที่หลากหลายรองรับ
เชื่อกันด้วยว่า “อาร์เซป” จะกลายเป็นแรงผลักดันมหาศาลให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) หลั่งไหลเข้ามาในชาติสมาชิกทั้งหลาย
อาร์เซปช่วยให้เกิดการรวมตัวกันเป็นเอกภาพในภูมิภาค ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กันและกันให้สามารถต้านทานแรงกระทบในเชิงลบซึ่งเกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดีกว่าเดิมเป็นอย่างน้อย
ในรายงานผลการศึกษาวิจัยของธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทำนายว่า อาร์เซปจะเป็นปัจจัยสำคัญในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิดสำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งจะส่งผลในทำนองเดียวกันไปทั่วโลก
“หากขั้นตอนทุกอย่างถูกนำไปปฏิบัติใช้ตามกำหนด ภายในปี 2030 เราประมาณว่า อาร์เซปจะทำให้รายได้ประชาชาติของสมาชิกเพิ่มขึ้นราว 0.6% ทำให้ทั้งภูมิภาคมีรายได้เพิ่มมากขึ้นคิดเป็นมูลค่า 245,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นภายในภูมิภาคถึง 2.8 ล้านตำแหน่ง” รายงานของเอดีบีระบุ
รายงานที่เผยแพร่เมื่อเดือนพฤศจิกายน ของสถาบันวิชาการเพื่อการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศแห่งจีน คาดการณ์ว่า อาร์เซปจะทำให้การส่งออกของชาติสมาชิกเพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่า 857,100 ล้านดอลลาร์ และนำเข้าเพิ่มขึ้น 983,700 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2035 ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มขึ้น 18.30% และ 9.63% ตามลำดับ
การลงทุนในภูมิภาคอาร์เซปเพิ่มขึ้น 1.47% สวัสดิการทางเศรษฐกิจ (economic welfare) จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 162,800 ล้านดอลลาร์
อาร์เซปจะช่วยให้การค้าระหว่างประเทศของทั้งโลกเพิ่มขึ้นราว 2.91% ทำให้จีดีพีของโลกเพิ่มขึ้นราว 0.12% ในปี 2035 นั้น
ที่น่าสนใจก็คือ ผลประโยชน์เหล่านี้บังเกิดขึ้นไม่เท่ากัน มากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับปัจจัยในแต่ละประเทศ
ในรายงานของจีน คาดว่า “อาเซียน” จะได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากความตกลงอาร์เซป ในแง่ของการขยายตัวของจีดีพี ซึ่งโดยรวมแล้วจีดีพีของอาเซียนจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.47% ในปี 2035
โดยจีดีพีของกัมพูชาจะขยายตัวมากที่สุดถึง 7.98% ต่อด้วยฟิลิปปินส์ 7.04% แล้วจึงเป็นไทย 6.38% กับเวียดนาม 6.33%
“เมิ่ง ยู่หมิง” นักวิจัยจากสถาบันสังคมศาสตร์เหลียวหนิง ชี้ให้เห็นว่า การจะก้าวไปสู่จุดนั้นได้ รัฐบาลและองค์กรธุรกิจของชาติสมาชิกยังต้องทำอะไรอีกมาก ตั้งแต่เรื่องของการปฏิรูปกฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับความตกลงอาร์เซป ไปจนถึงการเตรียมตัว ให้พร้อมสำหรับรองรับทั้งผลประโยชน์และการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการมาของอาร์เซป