“ฮัทชิสันพอร์ท” เปิดแผน 3 ปี ขยาย “ท่าเรือ D” รับขนส่งพุ่ง
ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย รับอานิสงส์ยอดส่งออกพุ่ง หนุนรายได้ 7 เดือน ปี 2564 โต 14% เทงบฯลงทุน 2 หมื่นล้าน ต่อยอดขยายชุดพอร์ต D2-D3 เสริมแกร่งไทยครองเบอร์ 4 ท่าเทียบเรือแห่งภูมิภาคภายใน 3 ปี
ที่มา : www.prachachat.net
นายสตีเฟ้นท์ อาร์ชเวิรท กรรมการผู้จัดการบริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย (HPT) และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือชั้นนำในประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วง 7 เดือน ปี 2564 ยอดการขนส่งสินค้าผ่านท่าเทียบเรือเพิ่มขึ้น 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็นผลจากการส่งออกและการนำเข้ากลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกหลังจากประเทศต่าง ๆ กระตุ้นเศรษฐกิจ จึงส่งผลดีต่อปริมาณการขนส่งสินค้าเข้า-ออกของ HPT ที่เพิ่มขึ้น
โดยช่วงครึ่งปีแรกมีเรือขนส่งตู้สินค้า 529 ลำ ใช้บริการ HPT ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเรือฟีดเดอร์ขนาด 500-2,500 ทีอียู 245 ลำ เรือขนส่งตู้สินค้าที่มีขนาด 4,501-12,500 ทีอียู 166 ลำ เรือที่มีขนาดใหญ่พิเศษ (Ultra Large Container Vessel : ULCV) มีระวางบรรทุกตู้สินค้ามากกว่า 12,500 TEU จำนวน 66 ลำ และเรือพานาแมกซ์ หรือขนาด 2,501-4,500 ทีอียู 57 ลำ
ในปีนี้เหตุการณ์สำคัญของ HPT คือ ได้ขนถ่ายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินให้กับโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT โครงการรถไฟฟ้า BTS สายสีทอง รวมถึงการสนับสนุนการขนถ่ายชิ้นส่วนก่อสร้างแท่นขุดเจาะน้ำมัน รวมถึงเรือ MSC MINA เรือขนส่งสินค้าที่บรรจุตู้คอนเทนเนอร์ 23,256 TEUs เป็นต้น
ทั้งนี้ บริษัทครองส่วนแบ่งตลาดประมาณ 40% ในแหลมฉบัง และครองสัดส่วน 30% ในประเทศไทย หรือปริมาณบริหารจัดการที่ 3.19 ล้านตู้ในปี 2563
“ปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังถือว่าเป็นท่าเรือหลัก เป็นประตูของการนำเข้า-ส่งออกของประเทศไทยในปี 2563 มีตู้สินค้าผ่านท่าถึง 7.6 ล้าน TEU คิดเป็น 76% จากปริมาณตู้สินค้าทั้งหมดของประเทศไทย 10.5 ล้าน TEU ถือเป็นท่าเรือที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 20 ของโลก และอันดับที่ 4 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากท่าเรือสิงคโปร์ พอร์ตกลัง และตันหยงเปเลปัส ประเทศมาเลเซีย”
ด้านนายอาณัติ มัชฌิมา ประธานบริหารงานทั่วไป HPT กล่าวว่า บริษัทวางแผนที่จะขยายศักยภาพการดำเนินงานของท่าเทียบเรือต่าง ๆ มีเป้าหมายประมาณ 6.75 ล้าน TEU ภายใน 2-3 ปีข้างหน้านี้ โดยได้ขยายการลงทุนท่าเทียบเรือชุด D ซึ่งเริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2016 ขณะนี้ได้ก่อสร้างและเปิดทำการเฟสแรกท่าเทียบเรือ D1 ไปเมื่อเดือนมกราคม 2019 ทำให้ปัจจุบันเปิดให้บริการในท่าเทียบเรือ A2 A3 C1 C2 D1
“ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาส่วนที่เหลือของท่าเทียบเรือชุด D ต่อเนื่อง D2 และ D3 ซึ่งจะยังมีในส่วนของที่วางตู้สินค้า ติดตั้งระบบรีโมตส่งถึงฝั่งเครน 17 ตัว รีโมตคอนโทรลไฟฟ้า 43 ตัว มีรถบรรทุก 100 คัน ซึ่งหากก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมดจะมีความยาวท่าเทียบเรือ 1,700 เมตร และมีความลึก 16 เมตรจากระดับน้ำทะเล ความจุ 3.5 ล้านทีอียู นอกจากนี้ ยังเตรียมพัฒนาต่อยอดในการนำระบบ 5G มาใช้เชื่อมต่อสัญญาณ และนำระบบรถบรรทุกไฟฟ้ามาใช้ในปีหน้าด้วย”
นายอาณัติกล่าวว่า หากการก่อสร้างท่าเรือชุด D สำเร็จจะไม่เพียงส่งผลดีต่อบริษัทในแง่ที่จะสามารถรองรับเรือขนาดใหญ่กว่า ULCV ได้ และมีความทันสมัยที่สุดในภูมิภาค ซึ่งนั่นจะช่วยรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ไทยเป็นผู้ให้บริการท่าเทียบเรือชั้นนำในภูมิภาค และที่สำคัญธุรกิจท่าเรือเป็นธุรกิจที่จะมีความยั่งยืนเพราะอายุการใช้งานท่าจะอยู่ที่ 50-100 ปี นี่จึงถือเป็นวิสัยทัศน์ของผู้ลงทุนที่มองถึงโอกาสในอนาคต
“ในช่วงครึ่งปีแรกเราพบว่ายอดการขนส่งสินค้าในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้นหลังจากประเทศต่าง ๆ กระตุ้นเศรษฐกิจมีการนำเข้าสินค้ามาก ไทย มาเลเซียเติบโต และโดยเฉพาะเวียดนามเติบโตมากจาก 17% ปีก่อน มาเป็น 44% กลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่ทุกคนสนใจ ส่วนปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ทั่วโลกก่อนหน้านี้ ทำให้ปริมาณการขนส่งตรงท่าเทียบเรือแหลมฉบังลดลง 5.5% แต่ตอนนี้เริ่มคลี่คลาย ต้องยอมรับว่าเมื่อการค้าระหว่างประเทศไม่ดีก็มีผลต่อเราบ้าง แต่ตอนนี้ทุกอย่างคลี่คลายเรือใหญ่พร้อมจะมาจอด จึงไม่มีผลต่อแผนการลงทุนของเรา”
อนึ่ง HPT เป็นหนึ่งในเครือบริษัท ซีเค ฮัทชิสัน โฮลดิ้งส์ จำกัด (CK Hutchison Holdings Limited) ที่ดำเนินธุรกิจให้บริการด้านท่าเทียบเรือและบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นผู้ลงทุนพัฒนาและประกอบการด้านท่าเทียบเรือชั้นนำของโลก มีเครือข่ายท่าเทียบเรือถึง 52 แห่ง กระจายอยู่ใน 26 ประเทศทั่วโลก