“ส่งออก” สำลักพิษค่าขนส่ง ต้นทุนพุ่ง ลูกค้าเลื่อนรับสินค้า
ค่าระวางเรือพุ่ง ทุบส่งออกไทย Q3 ลูกค้าต่างประเทศแห่ขอ “เลื่อนรับมอบสินค้า” พืชผลเกษตร อาหารแปรรูปอ่วมสุด “เอเซีย โกลเด้น ไรซ์-ซี.พี.อินเตอร์เทรด” โอดส่งออกข้าวไปสหรัฐต้นทุนขนส่งตันละ 500 เหรียญ แพงแซงราคาข้าวเปลือก อาหารกระป๋องเจอ 2 เด้ง ต้นทุนกระป๋องขึ้นพุ่ง 20% “พาณิชย์” เร่งช่วยเปิดทางเรือขนคอนเทนเนอร์เข้าอีก 2 ลำ มิ.ย.นี้ กัดฟันยืนเป้าส่งออกปี’64 โต 4%
วิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้จะฉุดรายได้การท่องเที่ยว การลงทุน และการบริโภคภายใน แต่การส่งออกช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) ปี 2564 ขยายตัว 4.78% ถือเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดสัญญาณการส่งออกในช่วงไตรมาส 3 แนวโน้มอาจไม่สดใสเหมือนที่คาดการณ์ไว้ จากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ประเทศผู้ส่งออกต้องเปิดศึกแย่งชิงตู้คอนเทนเนอร์เพื่อการส่งออกหลังเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มฟื้น เกิดปัญหาต้นทุนค่าระวางเรือ หรือค่าเฟรตปรับตัวสูงขึ้นมาก
ปัญหาดังกล่าว กดดันให้สินค้าส่งออกไทยหลายรายการต้องปรับขึ้นราคา ทำให้ผู้นำเข้าในต่างประเทศแบกรับราคาไม่ไหว ขอเลื่อนการส่งมอบสินค้าตามสัญญาออกไป
วิกฤตซ้อนวิกฤต
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ได้เกิดปรากฏการณ์ลูกค้าปลายทางในต่างประเทศขอเลื่อนระยะเวลาส่งมอบสินค้าจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ
สาเหตุหลักมาจากค่าระวางการขนส่งสินค้าทางเรือหรือค่าเฟรตพุ่งสูงขึ้นมาก จากก่อนหน้านี้ที่เกิดปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ไม่เพียงพอส่งออก ประกอบกับต้นทุนของผู้ส่งออกปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้หลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบรุนแรง
“ภาพรวมการส่งออกที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ ตลาดส่งออกไม่ได้มีปัญหา แต่ปัญหาที่ต่อเนื่องเป็นเรื่องการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ปริมาณตู้ไม่เพียงพอส่งออก ถึงตอนนี้ลูกค้าขอเลื่อนส่งมอบสินค้าเพราะค่าเฟรตแพง ผลที่เกิดขึ้นอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปถูกกระทบมาก โดยเฉพาะผักและผลไม้ และอาหารทะเลกระป๋อง ที่เดิมได้รับผลกระทบจากต้นทุนกระป๋องที่เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว
เมื่อค่าระวางเรือปรับขึ้นจึงเหมือนเจอวิกฤตซ้อนวิกฤต สวนทางกับตลาดที่ต้องการสินค้าราคาถูกลง เพราะเศรษฐกิจไม่ดี หากเทียบกันแล้ว เวลานี้ต้นทุนผู้ส่งออกวิ่งเร็วกว่าอัตราการขยายตัวของการส่งออก”
นายวิศิษฐ์กล่าวว่า ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับต้นทุนการผลิตของผู้ส่งออกที่ปรับสูงขึ้นมาจากความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นฉับพลัน จากก่อนหน้านี้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก ผู้ผลิตที่เคยผลิตสินค้าบางชนิดก็ลดปริมาณการผลิต และปริมาณการสต๊อกสินค้า ภายหลังเมื่อมีการฉีดวัคซีน เศรษฐกิจเริ่มกลับมา การผลิตเพื่อการส่งออกกลับมา แต่วัตถุดิบบางอย่างอาจมีปัญหา เพราะไม่มีใครสต๊อกไว้ ตัวอย่าง เช่น ชิปอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก ยาง พลาสติก ฝ้าย โพลีเอสเตอร์ เมื่อความต้องการพลิกกลับมาจึงเกิดการขาดแคลน ทำให้ต้นทุนพุ่งสูงขึ้น
ต้นทุนอาหารสำเร็จรูปพุ่ง 50%
นายธรรศ ทังสมบัติ นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันคำสั่งซื้อในกลุ่มสินค้าอาหารแปรรูป โดยเฉพาะตลาดสำคัญยังอยู่ที่สหรัฐ และยุโรป ซึ่งเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นจากการฉีดวัคซีนให้กับประชากรในประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ การบริโภคฟื้นตัว มีความต้องการสินค้า และมีคำสั่งซื้อสินค้าอาหารแปรรูปไทยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
สมาคมคาดว่าปี 2564 ภาพรวมการส่งออกจะขยายตัว 3-5% แต่สิ่งที่ผู้ส่งออกอาหารแปรรูปเป็นห่วง และเกรงว่าจะกลายเป็นอุปสรรคมากระทบต่อการส่งออก คือ เรื่องของค่าระวางเรือที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 4 ปีนี้
เห็นได้จากค่าระวางเรือเส้นทางสหรัฐขึ้นมาอยู่ที่ 10,000 เหรียญสหรัฐต่อตู้ 20 ฟุต จากเดิม 3,000-4,000 เหรียญสหรัฐต่อตู้ 20 ฟุต เส้นทางยุโรปขึ้นมาอยู่ที่ 4,000 เหรียญสหรัฐต่อตู้ 20 ฟุต จากเดิมอยู่ที่ 1,200-1,300 เหรียญสหรัฐต่อตู้ ซึ่งจะลดแรงจูงใจผู้นำเข้าในการนำเข้าสินค้า เนื่องจากต้นทุนพุ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัว ขณะที่ต้นทุนการผลิตสินค้าจากแผ่นเหล็กที่นำมาผลิตเป็นกระป๋องก็ขยับสูงขึ้นด้วย ส่วนนี้คิดเป็นต้นทุนสินค้าที่ 40-50% ซึ่งสูงมาก นอกจากนี้ยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงานเก็บเกี่ยววัตถุดิบ ฯลฯ
ค่าเฟรตเรือแพงกว่าข้าวเปลือก
นายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ ประธานบริษัท เอเซีย โกลเด้นท์ ไรซ์ จำกัด เปิดเผยว่า สถานการณ์การส่งออกข้าวไทยลดลงต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยช่วง 4 เดือนแรก ไทยส่งออกได้เพียง 1.45 ล้านตัน ลดลง 31% ยิ่งเจอปัญหาตู้เรือหายาก แถมตอนนี้ค่าเฟรตเรือไปยุโรป สหรัฐ ปรับขึ้นสูงกว่า 100% โดยเฉพาะตลาดสหรัฐ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกข้าวหอมมะลิสำคัญ ค่าเฟรตขึ้นไปถึง 10,000 เหรียญสหรัฐต่อตู้ คำนวณแล้วค่าเฟรต “แพงกว่า” ราคาข้าวเปลือก เรากำลังหาแนวทางแก้ไข แต่เป็นปัจจัยภายนอกควบคุมได้ลำบาก
ด้านนายสุเมธ เหล่าโมราพร ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ซี.พี. อินเตอร์เทรด จำกัด เปิดเผยทำนองเดียวกันว่า ตอนนี้สถานการณ์ราคาข้าวที่ขายแบบราคา เอฟ.โอ.บี. ปรับลดลงจาก 1,000 เหรียญสหรัฐ เหลือ 800 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นราคาข้าวเปลือกแห้งลดลงจากตันละ 16,000-18,000 บาท เหลือ 11,000 บาท แต่ถ้ารวมค่าเฟรตเรือ ราคาจะขยับขึ้นมาก
ปัจจุบันค่าระวางไปตลาดสหรัฐ ตู้ละ 10,000 เหรียญ ถ้าบรรจุตู้ขนาด 20 ตัน เฉลี่ยตันละ 500 เหรียญสหรัฐแล้ว ซึ่งต้นทุนนี้ผู้ส่งออกทุกประเทศที่ส่งออกไปสหรัฐขยับขึ้นเหมือนกัน เวียดนามก็แพง ไทยก็แพง แต่อินเดียจะได้เปรียบไทย เพราะถ้าเป็นตลาดส่งออกแอฟริกาจะอยู่ใกล้อินเดียมากกว่าไทยที่ต้องส่งออกไปทางแหลมมลายู ทำให้อินเดียมีต้นทุนค่าขนส่งถูกกว่าไทย
“แต่สิ่งที่น่าห่วงเป็นปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ หรือตู้เรือชอร์ตมากกว่าต้นทุนค่าเฟรต เพราะลูกค้าเราส่วนใหญ่จะเป็นพรีเมี่ยม ต้นทุนข้าวแพงราคาขายปลีกยังไปได้ เพราะเวียดนามก็แพงด้วย แต่ตู้ชอร์ตทำให้ออร์เดอร์ที่รับไว้ส่งออกไม่ได้
สมมุติผู้ส่งออกรับออร์เดอร์มาได้ 100% หาเรือได้แค่ 30% ขาดตู้อีก 70% ก็ต้องรอเรือ คาดว่าปัญหานี้จะอยู่กับเราไปถึงปลายปี การหมุนเวียนตู้จึงจะกลับมา ส่วนตัวมองว่าปีนี้ไทยน่าจะส่งออกข้าวได้ 5 ล้านตัน จากปี 2563 ส่งออกได้ 5.5 ล้านตัน”
ขณะเดียวกัน ผลจากการที่ราคาส่งออกข้าวปรับลดลง ด้านหนึ่งอาจจะทำให้ผู้ซื้อหันมาซื้อข้าวไทย ทำให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน แต่อีกด้านหนึ่งรัฐบาลจะต้องจ่ายชดเชยมากขึ้น และมีผลต่อกำลังซื้อในประเทศด้วย
การ์เมนต์เจอโรคเลื่อนด้วย
ด้านนายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผู้ส่งออกเครื่องนุ่งห่มก็มีปัญหาถูกลูกค้าเลื่อนการรับมอบสินค้าจากต้นทุนค่าเฟรตปรับสูงขึ้นเช่นกัน ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าในสหรัฐ และสหภาพยุโรป
ทั้งนี้ ต้นทุนค่าเฟรตจะคิดเป็นสัดส่วน 3-8% แล้วแต่สินค้าที่ส่งออก ถ้าส่งออกเต็มตู้ ต้นทุนค่าเฟรตจะอยู่ที่ 3-4% แต่ถ้าผลิตส่งออกปริมาณไม่มาก ไม่เต็มตู้ ต้นทุนจะอยู่ที่ 6-8% มองว่าแนวโน้มค่าเฟรตน่าจะค่อย ๆ ลดลงช่วงปลายปี
เลื่อนส่งมอบ 1-2 สัปดาห์
ขณะที่นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า จากที่เศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัวดีขึ้น ความต้องการนำเข้าสินค้ามีมากขึ้น ที่ผ่านมามีคำสั่งซื้อในสินค้าไทยเพิ่มขึ้นมาก ปริมาณการส่งออกของไทยขยายตัวทั้งในตลาดจีน สหรัฐ เป็นต้น
แต่ล่าสุดผู้ส่งออกประสบปัญหาเรื่องพื้นที่บนเรือในการส่งออกสินค้า เพราะปรับตัวไม่ทัน และรับคำสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้น จีนและเวียดนามก็ต้องการส่งออกเพิ่มขึ้นเช่นกัน การจองพื้นที่ในการส่งออกสินค้าจึงไม่เพียงพอต่อปริมาณสินค้าที่จะส่งออกไปในต่างประเทศ
ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ไม่เพียงพอจึงถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาค่าระวางเรือที่ปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางเดินเรือไปยุโรป สหรัฐ ค่าระวางปรับตัวขึ้น 4-5 เท่าจากปกติ หรือ 10,000-12,000 เหรียญสหรัญต่อตู้ 40 ฟุต จากปกติ 2,000-3,000 เหรียญสหรัฐต่อตู้ 40 ฟุต
เปิดทางนำเข้าตู้ดันส่งออก
ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ล่าสุดได้รับรายงานว่า จะมีเรือขนาดใหญ่ 300-400 เมตร บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์กำลังจะเข้ามาท่าเรือแหลมฉบังในเดือน มิ.ย.นี้ 2 ลำ จากก่อนหน้านี้ที่มีเรือขนตู้เปล่ามาแล้ว 5 ลำ รวมเป็น 7 ลำ ทำให้จำนวนตู้คอนเทนเนอร์จะมีมากขึ้น
เพราะทั้งหมดบรรทุกตู้เปล่าเข้ามาได้ 23,000 ตู้ สามารถขนสินค้าออกไปได้ 458,000 ตัน รวมมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจากการได้ตู้เปล่าเข้ามา 35,000 ล้านบาท ช่วยบรรเทาปัญหาให้กับผู้ส่งออก และช่วยลดต้นทุนได้
อย่างไรก็ตาม การประกาศกรมเจ้าท่าปรับอนุญาตให้เรือขนาดใหญ่เข้าท่าเรือแหลมฉบังได้เพียงระยะเวลา 1-2 ปี ยังไม่เพียงพอ จำเป็นต้องให้เรือขนาดใหญ่สามารถเข้ามาท่าเรือได้ เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง ถ่ายลำเรือ เพื่อนำตู้คอนเทนเนอร์เข้าเทียบท่า ลดต้นทุนให้ผู้ส่งออกและสามารถนำตู้เปล่าเข้ามาได้มากขึ้น การส่งออกก็จะเติบโตไปได้ ซึ่งผลักดันเรื่องนี้ต่อไป
“การส่งออกของไทยทั้งปี 2564 จะขยายตัวตามเป้า 4% หรืออาจมากกว่า เพราะขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ผลักดันกิจกรรมส่งเสริมการค้าต่อเนื่อง ทั้งกิจกรรมเจรจาการค้าจับคู่ธุรกิจ การจัดแสดงสินค้าออนไลน์ และหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาและลดอุปสรรคให้การส่งออกดีขึ้น”
สำหรับการดำเนินการของกระทรวงพาณิชย์ เป็นไปตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้การท่าเรือแก้ประกาศใหม่ อนุญาตให้เรือขนาด 300-400 เมตร เข้าเทียบท่าได้ จึงทำให้มีเรือเข้ามาตั้งแต่ 8 ก.พ. 2564, 17 เม.ย. 2564, 20 เม.ย. 2564, 5 พ.ค. 2564 และล่าสุด 26 พ.ค. 2564 มีเรือสินค้า MSC Amsterdam ขนาด 399 เมตร บรรทุกตู้เปล่าเข้ามา 4,000 ตู้ บรรจุสินค้าได้ 80,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าส่งออก 6,000 ล้านบาท อีก 2 ลำที่เข้ามาในเดือนนี้ ลำแรกวันที่ 2 มิ.ย. ขนาด 395 เมตร และ 19 มิ.ย. ขนาด 398 เมตร