ในความเงียบ ของ EEC เดิมพันอนาคต เศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19

โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จัดเป็นความหวังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ชัดเจนในยุคของ “นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์” อดีตรองนายกรัฐมนตรี ด้วยการกำหนดนโยบายในการขับเคลื่อน EEC
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ตั้งแต่การดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนเป้าหมาย อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ผ่านทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จนทำให้มียอดขอรับส่งเสริมการลงทุนสูงทำนิวไฮถึง 683,910 ล้านบาทในปี 2561 หรือเพิ่มขึ้น137% จากจำนวนโครงการขอรับส่งเสริมถึง 422 โครงการ

แต่หลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลงทีมเศรษฐกิจ ประกอบกับเกิดสถานการณ์โควิด-19 สุ้มเสียงของรัฐบาลที่มีต่อ EEC ก็เริ่มเปลี่ยนไป ส่งผลให้นโยบายในการขับเคลื่อนเริ่ม “ไม่มีทิศทางที่ชัดเจน”แม้สถานการณ์โควิดจะเริ่มคลี่คลายเข้าสู่ระยะการฉีดวัคซีนไปทั่วโลกแล้วก็ตาม

รัฐไม่สนองพื้นที่ SMEs

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ส.อ.ท. ขอให้ภาครัฐสนับสนุนให้มีการจัดสรรพื้นที่รองรับนักลงทุน ซึ่งเป็นผู้ประกอบการไทยที่เป็น SMEs

โดยเฉพาะการจัดตั้ง “นิคมอุตสาหกรรม SMEs” ให้เป็นรูปธรรม เพื่อเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีได้เรียนรู้เทคโนโลยี ได้สิทธิประโยชน์ การดูแล ระบบสาธารณูปโภคที่ดี

มีช่องทางในการลงทุนสามารถพัฒนาตนเองให้เป็นส่วนหนึ่งในซัพพลายเชนเพื่อป้อนชิ้นส่วนหรือสิ่งต่าง ๆ ให้ครบวงจร (ลูป) ของการผลิต ตามที่รัฐบาลได้เคยประกาศนโยบายช่วย SMEs เป็นวาระแห่งชาติ

ผังเมืองทำ EEC ป่วน

ไม่เพียงเท่านั้น ที่ผ่านมามี “คลื่นใต้น้ำ” ให้เห็นกันอยู่เนือง ๆ กลุ่ม EEC Watch หรือกลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ได้ขอให้ยุติการดำเนินการเพื่อประกาศใช้ผังเมือง EEC

และต้องการจัดทำเมือง EEC ใหม่ตั้งแต่ต้น โดยให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมเสียก่อน โดยเห็นว่าการรื้อผังเมืองเดิม และทำแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในภาพรวมให้สอดคล้องกับนโยบาย EEC นั้น เป็นการ “เปิดทาง”

ให้มีการบริหารจัดการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC โดยประชาชนในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วม ซึ่งถือเป็นการทำลายหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม จนผังเมือง EEC ใหม่กลับกลายเป็นกระบวนการทำผังที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมด้วย

ส่งผลให้ทุกวันนี้แม้ผังเมือง EEC จะประกาศใช้แล้ว แต่ยังมีบางพื้นที่ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นสีม่วงได้ ส่งผลให้นักลงทุนบางรายที่มีแผนก่อสร้างโครงการใหญ่ ๆ และนิคมอุตสาหกรรมต้องเบรกการลงทุน

 

พร้อมกับมองหาพื้นที่ใหม่ นอกจากนี้ EEC ในอนาคตอันใกล้ยังต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคอุตสาหกรรมแน่นอน ทุก ๆ ปีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องจัดประชุมเตรียมการเพื่อประเมินสถานการณ์น้ำในลักษณะปีต่อปี

มีแต่แผนไม่มีการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม จากข้อเท็จจริงที่ว่าความต้องการใช้น้ำรวมใน EEC ตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 2,419 ล้าน ลบ.ม./ปี ขณะที่น้ำต้นทุนรองรับเหลือแค่ 2,540 ล้าน ลบ.ม./ปีเท่านั้น จนปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่ออุตสาหกรรมกลายเป็นอุปสรรคของการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษแห่งนี้ไปแล้ว

ไม่มีศูนย์ซ่อม MRO

ขณะที่แผนการลงทุนโครงการสำคัญ ๆ ขนาดใหญ่ 5 โครงการของ EEC คือ สนามบินอู่ตะเภา, รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3, ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3

และศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ปรากฏ 4 โครงการแรกเริ่มเดินหน้าไปได้ แต่ศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ที่น่าจะเริ่มไปพร้อม ๆ กับสนามบินอู่ตะเภา กลับหยุดชะงักลงจากปัญหาโควิด-19

 

ที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมการบิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการล้มละลายของการบินไทย ที่เป็นหุ้นส่วนหลักของโครงการ จนต้องขอลดพื้นที่การลงทุนเหลือเพียง 200 ไร่

โดยที่ยังไม่มีโครงการขนาดใหญ่มาทดแทนการหายไปของศูนย์ซ่อมอากาศยานได้แต่ดูเหมือนว่าจะมีความพยายามที่จะ “ปั้น” โครงการ Smart City เข้ามา แต่ก็ยังไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจนมากนัก ว่าใครจะเป็นคนลงทุนที่ไหน และเพื่ออะไร ให้กับนักลงทุนได้ทราบ

ขาดผู้นำ EEC

สะท้อนออกมาจากความเห็นของผู้เกี่ยวข้องในนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ว่า เริ่มตั้งแต่ พ.ร.บ. EEC ออกมาบังคับใช้ นักลงทุนต่างก็มีเสียงแตกออกเป็น 2 ฝ่าย ในเชิงบวกมองถึงความมั่นคงทางนโยบายที่จะมีต่อไปของ EEC

อีกมุมคือการมองถึงอำนาจ บทบาท การกำหนดสิทธิประโยชน์ของ EEC ที่ออกจะใกล้เคียง จนเรียกได้ว่า “ซ้ำซ้อน” กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมมการลงทุน (BOI) เช่น ให้ผู้ประกอบการในเขตส่งเสริมพิเศษได้รับสิทธิประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง

หรือหลายอย่างตามกฎหมายกำหนด ยกตัวอย่าง สิทธิในการ “ยกเว้น” หรือ “ลดหย่อน” ภาษีอากร รวมทั้งสิทธิในการทำธุรกรรมการเงิน ที่นอกเหนือไปจากที่ BOI กำหนด

โดย EEC ยังมีการกำหนดเป้าหมายเม็ดเงินการลงทุนของ EEC ไว้ด้วย ในแต่ละปีที่ 300,000 ล้านบาท ขณะที่ BOI ก็เก็บสถิติยอดขอรับการส่งเสริมของตนเองเช่นกัน

ปัญหาข้ออุปสรรคนโยบายส่งเสริมการดำเนินการที่ซ้ำซ้อนกันอย่างนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข และยังขาด “ผู้นำ” ทางเศรษฐกิจในรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อน EEC

 

หลังสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังผ่อนคลายลงภายใน 1-2 ปี ยิ่งทำให้ “โอกาส” ของEEC ลดน้อยลง เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอื่น ๆ ที่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษและสิทธิประโยชน์ทำเลที่ตั้งที่เอื้อมากกว่า EEC ของประเทศไทย