จุดพลุ “แลนด์บริดจ์” แสนล้าน สะพานเศรษฐกิจเชื่อมภาคใต้-อีอีซี

หลังรัฐบาลประยุทธ์ขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หาเอกชนมาร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ได้ ทั้งรถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ สนามบิน หวังปลุกความเชื่อมั่นนักลงทุนในช่วง 5 ปีข้างหน้า ล่าสุดกำลังเดินหน้าอภิมหาโปรเจ็กต์เชื่อมพื้นที่ภาคใต้ EEC ผ่านท่าเรือระนอง ชุมพร แหลมฉบังเฟส 3 พร้อมหนุนการค้าไทยกับนานาชาติให้เติบโตยิ่ง ๆ ขึ้น
ที่มา : 
https://www.prachachat.net/



เปิดแนวเชื่อมโยงแหลมฉบัง

ในแผนงานมีหลายโครงการที่จะพัฒนา โดยเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP อาทิ โครงการเชื่อมระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) วงเงินกว่า 1 แสนล้านบาท โครงการสะพานเชื่อมแหลมฉบังถึงเพชรบุรี วงเงิน 990,000 ล้านบาท รถไฟทางคู่สายใหม่ พานทอง-หนองปลาดุก อีก 95,000 ล้านบาท

ปัจจุบันมีโครงการ “แลนด์บริดจ์” ที่กำลังเริ่มนับหนึ่ง โดยมี “กระทรวงคมนาคม” เป็นเจ้าภาพ หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณ 68 ล้านบาท ศึกษาโครงการเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2563

ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2564 สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เซ็นจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาแล้ว นำทีมโดย “บมจ.ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์” เพื่อศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์โมเดลการลงทุน

เร่งแลนด์บริดจ์แสนล้าน

 

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า โครงการแลนด์บริดจ์เป็นโครงการในแผนงานปี 2564 ที่กระทรวงคมนาคมจะต้องเดินหน้า หลังได้ที่ปรึกษาแล้ว จะใช้เวลาศึกษาโครงการ 30 เดือน นับจากวันที่ 2 มี.ค. 2564 ถึงวันที่ 1 ก.ย. 2566

การออกแบบเบื้องต้นและกรอบวงเงินจะแล้วเสร็จต้นปี 2565 จากนั้นจะเร่งสรุปผลศึกษาเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเปิดประมูลในปี 2565 คู่ขนานไปกับทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) จะให้เอกชนทั้งไทยและต่างชาติร่วมลงทุน PPP เหมือนโครงการใน EEC

ทั้งโครงการจะใช้เงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท ประกอบด้วยการพัฒนาท่าเรือระนองแห่งใหม่ให้เป็นท่าเรือสินค้าคอนเทนเนอร์และเป็นประตูการค้าฝั่งอันดามันของประเทศ สามารถขนส่งสินค้าเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือรองกับท่าเรือกลุ่มประเทศในแถบเอเชีย หรือ BIMSTEC นำระบบออโตเมชั่นมาใช้และพัฒนาให้เป็นท่าเรือทันสมัย (smart port)

สร้างท่าเรือชุมพรให้เป็นท่าเรือน้ำลึกที่ทันสมัย ก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ขนานไปกับมอเตอร์เวย์ ระยะทาง 120 กม. จากชุมพร-ระนอง เชื่อม 2 ท่าเรืออย่างไร้รอยต่อ รวมถึงมีการขนส่งท่อน้ำมันที่กระทรวงจะศึกษาและให้กระทรวงพลังงานเป็นผู้ดำเนินการต่อไป

เปิด PPP ญี่ปุ่นสนใจ

 

“มีหลายประเทศสนใจโครงการ โดยเฉพาะเอกชนและรัฐบาลญี่ปุ่น เพราะมีฐานการลงทุนในไทยอยู่แล้ว เราจะเปิด PPP โครงการเดียว สัญญาเดียว จะเป็นแบบจอยต์เวนเจอร์กับเอกชนไทยก็ได้ เมื่อได้เอกชนลงทุน จะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี”

นายศักดิ์สยามกล่าวอีกว่า เมื่อมีโครงการแลนด์บริดจ์แล้วก็ไม่จำเป็นต้องขุดคลองคอคอดกระ เพราะการขุดคลองถือเป็นสิ่งที่ล้าสมัยไปแล้วในปัจจุบัน ซึ่งการสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ชุมพรและระนอง โดยมีระบบขนถ่ายสินค้าที่เป็นระบบออโตเมชั่น แล้วใช้แลนด์บริดจ์ โดยทำรถไฟทางคู่และมีมอเตอร์เวย์อยู่ด้านข้าง เชื่อมท่าเรือน้ำลึกฝั่งอันดามันกับอ่าวไทย จะใช้เวลาวิ่งไม่เกิน 2 ชั่วโมง ทำให้ประหยัดเวลาได้

และการเดินหน้าโครงการนี้ ประชาชนในพื้นที่เห็นด้วยที่จะมีการพัฒนาท่าเรือ ทางรถไฟ มอเตอร์เวย์ เนื่องจากเป็นการสร้างและพัฒนาในจังหวัดและพื้นที่ข้างเคียง

โดยเฉพาะการหาพื้นที่สร้างท่าเรือใหม่ทั้ง 2 แห่ง จะมีการขยับออกจากจุดเดิม ทางบริษัทที่ปรึกษาจะต้องศึกษาความเหมาะสมให้จบก่อน ถึงจะรู้ตำแหน่ง หรืออีกแนวทางหนึ่ง อาจจะแค่ปรับปรุงท่าเรือเดิมให้เป็นท่าเรือน้ำลึกแทน

ลดเวลาขนส่ง 2 วัน

 

ปัจจุบันการขนส่งสินค้าของไทยกับกลุ่มประเทศแถบมหาสมุทรอินเดียต้องเปลี่ยนถ่ายสินค้าทั้งนำเข้าและส่งออกผ่านช่องแคบมะละกา ประเทศสิงคโปร์ เป็นเส้นทางที่อ้อมและไกล อีกทั้งเส้นทางดังกล่าวมีการจราจรทางน้ำคับคั่ง โดยมีเรือหนาแน่นสูงถึง 100,000 ลำ/ปี และมีการประเมินว่าช่องแคบมะละกาจะมีศักยภาพรองรับเรือเต็มจำนวนในปี 2567

โดยคาดการณ์ว่าภายใน 30 ปี หรือในปี 2593 ปริมาณเรือจะเพิ่มขึ้นอีก 4 เท่า หรือ 400,000 ลำ/ปี ดังนั้นการพัฒนาโครงการนี้จะเป็นการเปิดเส้นทางการคมนาคมที่ประหยัดต้นทุน เวลาการเดินทาง ลดการเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกาถึง 2 วัน

อีกทั้งโครงการนี้จะกระจายการพัฒนาไปสู่ภาคกลางและภาคใต้ เชื่อมกับ EEC ซึ่งการพัฒนาจะมีระยะเวลาใกล้เคียงกับ EEC ที่จะแล้วเสร็จในปี 2568 ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางขนส่งทางน้ำของภูมิภาค ลดต้นทุนโลจิสติกส์ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศได้ในอนาคต

รวมถึงทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในพื้นที่ภาคใต้จะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 10% จากเดิม 2% ภายใน 10 ปีนับจากเปิดบริการ

หนุนไทยฮับอาเซียน

ด้าน นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการตามยุทธศาสตร์ชาติ และสนับสนุนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) ในพื้นที่ จ.ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญ

 

เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่บนศูนย์กลางของกลุ่มประเทศอาเซียน มีชายฝั่งทะเลติดกับมหาสมุทร 2 ด้าน คือฝั่งอ่าวไทยด้านตะวันออกติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก ฝั่งอันดามันด้านตะวันตกติดกับมหาสมุทรอินเดีย มีความได้เปรียบทางที่ตั้งและภูมิศาสตร์ที่มีลักษณะทางกายภาพสามารถเปิดสู่ทะเลทั้งสองด้าน

จึงเป็นโอกาสที่จะได้ใช้ประโยชน์จากทำเลที่ตั้งดังกล่าวเพื่อนำมาพัฒนาเป็น “สะพานเศรษฐกิจ” ในการเชื่อมโยงฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน

และเป็นทางเลือกในการขนส่งสินค้าทางทะเลนอกเหนือจากเส้นทางการขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบมะละกาในปัจจุบัน เพื่อเป็นการสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยกับกลุ่มประเทศที่อยู่ทางด้านมหาสมุทรอินเดียในอนาคต

 

โครงการแลนด์บริดจ์ที่รัฐบาลประยุทธ์กำลังปัดฝุ่นเคยมีการริเริ่มโครงการมาแล้วในยุครัฐบาลทักษิณ จะใช้เงินลงทุน 1.5 ล้านล้าน ใกล้กับท่าเรือปากบารา จ.สตูล และ อ.จะนะ จ.สงขลา ต่อมาเมื่อปี 2551 กระทรวงคมนาคม MOU กับ “ดูไบ เวิลด์” ศึกษาความเหมาะสมพัฒนาท่าเรือระหว่างประเทศ 2 ฝั่งทะเล สะพานเศรษฐกิจระหว่างท่าเรือ ประกอบด้วย ถนน ทางรถไฟ ท่อส่งน้ำมัน เขตเศรษฐกิจพิเศษ ปลอดภาษี นิคมอุตสาหกรรม