ผู้ส่งออกอ่วมเรือขึ้นค่าระวาง ตู้สินค้าขาดลากยาวถึงปีหน้า
ตู้คอนเทนเนอร์ขาดลากยาวถึงปีหน้า สายเดินเรือแฮปปี้ขึ้นค่าระวางกันสนุกสนาน หลังเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวส่อแววนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นจนตู้ไปกองปลายทางไม่กลับมาเหมือนเดิม ด้านสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ เจรจาสมาคมเจ้าของเรือไทย หาทางนำเข้าตู้เปล่าจากฟิลิปปินส์-อินเดีย
ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดไปทั่วโลก ได้ส่งผลกระทบถึงการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ส่งออก เนื่องจากมีตู้จำนวนมากตกค้างอยู่ที่สหรัฐ-สหภาพยุโรป ซึ่งเป็นประเทศปลายทาง ตู้ที่สินค้ากลับมายังเอเชียมีน้อยลง ส่วนที่หมุนเวียนกลับมาได้ก็ถูกจีน-เวียดนามแย่งไป โดยเฉพาะจีนผู้ใช้รายใหญ่มีความต้องการปีละกว่า 200 ล้านตู้ จนทำให้ค่าระวางขนสินค้าปรับขึ้นมากกว่า 5 เท่าตัว คาดการณ์ว่าตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนจะข้ามปีไปจนถึงปี 2565
ตู้ขาดลากยาวถึงปีหน้า
นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้ว่าเทศกาลตรุษจีนจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่สถานการณ์ขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ก็ยังรุนแรงและมีแนวโน้มจะรุนแรงต่อเนื่องขณะที่จีนเริ่มหันมาผลิตตู้คอนเทนเนอร์ใช้เอง แต่ตู้คอนเทนเนอร์ก็ยังไปตกค้างอยู่ที่ปลายทางไม่กลับมา และจากแนวโน้มตัวเลขการบริโภคของสหรัฐประจำเดือนมกราคมที่เติบโตขึ้นถึง 5.3% โดยเฉพาะการค้าปลีก คาดว่าจะทำให้มีความต้องการนำเข้าสินค้ามากขึ้น ส่งผลให้ตู้คอนเทนเนอร์จะขาดแคลนต่อไป
“สรท.ได้ประสานไปยังสมาคมเจ้าของเรือไทย ให้เจรจานำเข้าตู้จากหลายประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ เอเชียใต้ เพื่อเพิ่มซัพพลาย และประสานกับกรมเจ้าท่า ในการลดค่าใช้จ่ายเรื่องภาระหน้าท่าสำหรับเรือขนาด 20 ฟุตจาก 1,600 บาทลงเหลือ 600 บาทเพื่อจูงใจให้มีการนำเข้าตู้เรือมากขึ้น ส่วนมาตรการระยะกลาง-ยาว ต้องพยายามให้นำเรือใหญ่ขนาด 400 เมตรเข้ามาเพื่อเพิ่มปริมาณตู้ ซึ่งกรมเจ้าท่าอนุญาต”
หากประเทศไทยต้องเพิ่มการส่งออกปี 2564 ให้ได้ 3-4% หมายความว่า ต้องหาตู้เพิ่มให้ได้ 3-4% จากปี 2563 ด้วย
นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า เดิม สรท.คาดการณ์สถานการณ์ตู้ขาดแคลนจะดีขึ้นหลังจบเทศกาลตรุษจีน แต่ปรากฏ “ลากยาวถึงกลางปีนี้เป็นอย่างน้อย” มีความเป็นไปได้ที่จะมีปัญหาต่อเนื่องไปถึงสิ้นปีหรือต้นปีหน้า แม้ว่าจีนซึ่งเป็นแหล่งผลิตตู้ 90% ของการผลิตทั่วโลกจะเร่งผลิตที่อาจดีขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3/2564 แต่ปัญหาคงยังคงไม่หมด อย่างตอนนี้สายเรือยินดีที่ “ค่าระวาง” ถูกปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก หากมีซัพพลายตู้ใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่มขึ้น จะมีผลทำให้ค่าระวางถูกปรับลดลง
“ถามว่าจีนผลิตตู้แล้วเพียงพอต่อการใช้งานหรือไม่ เท่าที่ทราบมา ตู้ที่ต้องการ 3 ส่วน แต่นำเข้าตามปกติได้เพียง 1 ส่วนผลิตตู้ได้เดือนละ 300,000 ตู้ แต่ยอดตู้ที่ผ่านเข้าออกท่าเรือจีนอยู่ในระดับ 200 ล้านตู้ต่อปี ดังนั้นการผลิตตู้ของจีนเพียงช่วยให้จีนได้เปรียบประเทศอื่น แต่ไม่ช่วยให้ปัญหาเบาบางลงไป”
พาเหรดขึ้นค่าระวางเรือ
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยประเมินปัญหาตู้สินค้าขาดแคลนส่งผลต่อต้นทุนค่าขนส่งปรับสูงขึ้น 3-5 เท่า ซึ่งกระทบต่อการส่งออกลดลงถึง 5,159 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1.5 แสนล้านบาท หรือหดตัว 2.2% แต่สัญญาณตอนนี้ดูรุนแรงขึ้น น่าจะกระทบมากกว่าที่เคยประเมินไว้โดยเฉพาะราคาค่าระวางเรือ 40 ฟุตเฉลี่ยปรับขึ้นเป็น 8,530 เหรียญจากปี 2563 ที่ 2,483 ล้านเหรียญ หรือมีส่วนต่างเพิ่มขึ้น 6,096 เหรียญหรือ 3.5 เท่า
โดยเฉพาะเส้นทางไทย-สหรัฐฝั่งตะวันออก เพิ่มป็น 15,732 เหรียญจากปีก่อนที่ 4,700 เหรียญ สายเรือไทย-สหภาพยุโรปปรับขึ้นเป็น 15,503 เหรียญจากเดิม 4,400 เหรียญ และสายไทย-สหรัฐฝั่งตะวันตก 15,018 เหรียญจาก 4,000 เหรียญ
ส่วนนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.เสนอเรื่องไปยังที่ประชุมคณะกรรมการร่วมรัฐและเอกชน กับกระทรวงพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) แล้ว ให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา ขณะที่ผู้ส่งออกได้รับผลกระทบจากต้นทุน ค่าตู้ปรับขึ้นก็จริง แต่ปัญหานี้คู่แข่งก็เดือดร้อนด้วย ผลกระทบมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับลักษณะการขายของผู้ส่งออกว่า เป็นการขายเแบบ FOB หรือวิธีอื่น หากขาย FOB ภาระก็จะตกที่ผู้นำเข้าที่ต้องหาเรือมารับของเองก็ต้องรับต้นทุนตรงนี้ไป
แย่งตู้อุตลุด
นางกนิษฐ์ เมืองกระจ่าง รองประธาน ส.อ.ท.และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม กล่าวว่า การขาดแคลนตู้ถือเป็นปัญหาใหญ่ ผู้ผลิตทั้งชิ้นส่วนและรูปแบบของสินค้าสำเร็จรูป จำเป็นต้องยอมจ่ายค่าเช่าตู้ที่เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า โดยเฉพาะพวกรายเล็กกระทบหนักมากไม่สามารถแบกรับไหวแน่นอน รอเพียงการช่วยเหลือจากภาครัฐ “เราแนะนำให้รายเล็กรวมตัวกันส่งสินค้าในประเทศที่มีปลายทางเดียวกันเป็นลอต ๆ เพื่อช่วยกันจ่าย ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะคุ้มค่าในการขนส่ง ส่วนรายใหญ่ไม่เป็นปัญหามาก เพราะสินค้าส่งทีก็เต็มตู้ มันคุ้มที่จะจ่ายอยู่แล้ว”
ด้านนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ชิ้นส่วนยานยนต์ต่าง ๆ ได้รับผลกระทบแน่นอน ปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไขที่ชัดเจน ก่อนหน้านี้ดูเหมือนคล้ายกับว่า รัฐบาลจะออกมาช่วยเช่น นำเข้าตู้เปล่า ลดค่าระวาง บรรเทาความเดือดร้อนในส่วนของค่าระวาง แต่อาจช่วยได้แค่บางส่วน ปัญหาคือผู้ส่งออกไม่มีตู้สินค้าส่งไปปลายทาง
ล่าสุดมีรายงานข่าวจากวงการส่งสินค้าเกษตรไปยังจีน พบว่าตั้งแต่เกิดสถานการณ์ตู้ขาดแคลน ปรากฏ “ค่าระวาง”เรือจากไทยไปจีนถูกปรับเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า
นอกจากนี้แม้ขายเป็น FOB ผู้นำเข้าเป็นคนจองตู้ให้ แต่พอถึงเวลาเอเย่นต์แจ้งว่า “ไม่มีตู้” สอบถามเป็นการภายในพบว่า ตู้คอนเทนเนอร์ที่จองมาถูกแย่งไปแล้ว เนื่องจากมีการจ่ายใต้โต๊ะ เป็นต้น