ขนส่งบก-อากาศวอนรัฐ ขอลดค่าเชื่อมระบบ NSW
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ
คลังสินค้าทางบก-อากาศยื่นหนังสือถึงภาครัฐขอลดอัตราค่าใช้บริการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ NSW หลังบริษัทโทรคมนาคม หรือ NT เรียกเก็บอัตราใหม่ NETbay ตัวแทนรายใหญ่เผยยินดีจ่ายค่าบริการแต่ต้องเหมาะสม ด้าน NT แจงลงทุนกับระบบจำนวนมาก และมี 8 รายเข้าร่วมแล้ว
ประกาศเรื่อง อัตราค่าใช้บริการระบบ National Single Window (NSW) ของบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2565 โดยที่ Service Provider หรือผู้ให้บริการเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่อย่าง บริษัทเน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) หรือ NETbay ในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก ตัวแทนออกของ ผู้ประกอบการสินค้าเร่งด่วน (e-Express) ทั้งทางบกและทางอากาศ
รวมไปถึงผู้ประกอบการคลังสินค้าทางอากาศยาน (Airport Terminal Operator) ถึง 284 บริษัท หรือคิดเป็นร้อยละ 98 จากจำนวน 289 บริษัทที่ตอบแบบสำรวจ “ไม่เห็นด้วย” กับการเรียกเก็บค่าใช้บริการระบบ NSW ของบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) เนื่องจากอัตราค่าบริการดังกล่าวส่งผลให้ “ต้นทุน” ของผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกเพิ่มขึ้นมากกว่า 100% ทั้งการเก็บซ้ำซ้อนและอัตราค่าบริการที่แพงเกินไป
การไม่เห็นด้วยกับการเรียกเก็บค่าใช้บริการระบบ NSW มีการเจรจาต่อรองกันมาระหว่าง NT กับตัวแทนผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 2 ปี แต่ไม่มีความคืบหน้า จนนำมาซึ่งการส่งหนังสือร้องขอความเป็นธรรมให้ผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนผ่านทางบริษัท NETbay ในช่วงปลายสมัยของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาเนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเสียก่อน
ต้นทุนคลังสินค้าบก-อากาศพุ่งพรวด
นางกอบกาญจนา วีระพงษ์ประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในฐานะที่ NETbay เป็นผู้ให้บริการลูกค้ารายใหญ่ในอุตสาหกรรมนำเข้า-ส่งออกที่ต้องใช้บริการระบบแพลตฟอร์มขออนุญาตนำเข้า-ส่งออก (NSW) ซึ่งเป็นบริการแลกเปลี่ยนเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างผู้ประกอบการกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ปรากฏ “ได้รับการร้องเรียนจากลูกค้าของเรา”
โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้ประกอบการส่งสินค้าเร่งด่วน (e-Express) และผู้ประกอบการคลังสินค้าอากาศยาน (Airport Terminal Operator) ที่สนามบินสุวรรณภูมิที่ NETbay เป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและดูแลการบริหารระบบ IT ในคลังสินค้าอากาศยานเข้ามาว่า จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ถ้ามีการเรียกเก็บค่าใช้บริการ NSW ตามอัตราที่บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) เรียกเก็บ
“ในส่วนของผู้ประกอบการคลังสินค้าอากาศยาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนส่งข้ามชาติรายใหญ่ของโลก เห็นว่าการคิดค่าบริการ NSW ในการนำส่งเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์ในหลาย ๆ รายการที่เป็นการส่งซ้ำ ๆ ให้กับหน่วยงานราชการตามที่ถูกร้องขอให้ส่ง ไม่ว่าจะเป็น กรมศุลกากร หรือการท่าอากาศยาน (AOT) ชุดคำขอเดียวกันซ้ำ ๆ กันทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
เพราะคิดค่าบริการเป็นหน่วย KB ไม่ได้นับเป็นเอกสารเป็นแผ่น ๆ ยิ่งต้องส่งมากก็ยิ่งเสียค่าใช้จ่ายมาก จากการประเมินของ NETbay จากธุรกรรมที่ต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในระบบ NSW ปัจจุบันคาดว่าทั้ง 2 คลังที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่สินค้าส่งออก-นำเข้าของประเทศจะต้องผ่านนั้น จะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทต่อปี ที่ผู้ประกอบการจะต้องจ่าย” นางกอบกาญจนากล่าว
ในขณะที่ผู้ประกอบการที่มีคลังสินค้าทางบกตามจังหวัดชายแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขนส่งสินค้าจากจีนเข้าสู่ประเทศไทยทางด้านจังหวัดมุดดาหารและนครพนมที่เริ่มให้บริการมาประมาณ 3 ปี รองรับการขนส่งทางบกจากจีนผ่าน สปป.ลาวที่เพิ่มขึ้นนั้น ก็ได้รับผลกระทบจากการคิดค่าบริการระบบ NSW เช่นกัน
เนื่องจากการขนส่งสินค้าจากจีนส่วนใหญ่จะนำเข้าทางตู้คอนเทนเนอร์ลากผ่านระบบขนส่ง โดยผู้ประกอบการคลังสินค้าทางบกเห็นว่า ถ้าคิดอัตราค่าใช้บริการระบบ NSW เป็น KB รายชิ้นจะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก และในทางปฏิบัติยังเป็นไปไม่ได้ที่จะนับเป็นรายสินค้า เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่ที่บรรจุตู้คอนเทนเนอร์เข้ามามีความหลากหลาย ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภค-บริโภคที่สำแดงในใบขนสินค้า
“ดังนั้นผู้ประกอบการคลังบกจึงต้องการให้คิดค่าใช้บริการระบบ NSW แบบ “เหมาจ่าย” เป็นรายตู้คอนเทนเนอร์หรือที่เรียกว่า “เหมาตู้” ซึ่งได้มีการเจรจากันถึงอัตราที่เหมาะสมจากอัตราปัจจุบันที่ NT คิดนั้น “ก็ยังสูงเกินไปอยู่ดี”
“ด้านผู้ประกอบการทางเรือ ซึ่งมีวอลุ่มสินค้านำเข้ามาก ต้องการให้คิดค่าบริการระบบ NSW แบบขั้นบันได ผู้ประกอบการทางอากาศที่ต้องรายงานการนำเข้าสินค้าทางอากาศทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงจะต้องรายงานหลายหน่วยงาน ส่งผลให้เกิดการแลกเปลี่ยนเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นจำนวนมาก ซ้ำ ๆ กันที่ต้องรายงานก็อยากให้ลดจำนวนเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ลงหรือลดอัตราค่าใช้บริการระบบลง
ส่วนผู้ประกอบการคลังทางบกก็อยากให้ใช้วิธีคิดค่าบริการแบบเหมาตู้ เรื่องเหล่านี้มีการหารือระหว่างผู้ประกอบการ NETbay รวมถึงตัวแทนจากกรมศุลกากรมาอย่างต่อเนื่องแต่ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ จนนำมาซึ่งการส่งหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากนายกรัฐมนตรี” นางกอบกาญจนากล่าว
ขอความเป็นธรรมจากนายกฯ
ทั้งนี้ ในหนังสือร้องเรียนนอกจากจะส่งถึงนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังส่งถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์-กระทรวงการคลัง-กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมไปถึงปลัดกระทรวงการคลังด้วย โดยหนังสือฉบับดังกล่าวใช้ข้อความว่า ขอเร่งรัดพิจารณาให้ “ความเป็นธรรม” กับผู้ประกอบการด้วย โดยคำว่า “ขอความเป็นธรรม” นั้น
นางกอบกาญจนากล่าวว่า จะต้องพิจารณาจาก “หลักการ” ในอัตราค่าใช้บริการระบบ NSW ของบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ว่า คำนวณมาจากอะไร ซึ่งมีการสอบถามกับทาง NT ไปแล้ว เพราะหากคำนวณอัตราค่าใช้บริการสูงเกินไป ในทางปฏิบัติผู้ประกอบการก็จะต้อง “ส่งผ่าน” ค่าบริการ ซึ่งถือเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากกระบวนการนำเข้าสินค้าให้กับผู้บริโภคต่อไป ซึ่งหมายถึงสินค้านำเข้าจะมีราคาเพิ่มขึ้น
“ข้อเสนอของเราก็คือ อัตราค่าใช้บริการระบบ NSW ที่เรียกเก็บอยู่ในปัจจุบันทำอย่างไรจะให้สอดคล้องกับประเภทของธุรกิจ ผู้ประกอบการยินดีที่จะจ่ายค่าใช้บริการระบบ NSW แต่ต้องจ่ายให้อัตราที่เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจ ยกตัวอย่าง ทำไมผู้ประกอบการคลังอากาศยานใช้ใบขนสินค้าใบเดียว แต่ต้องรายงานให้กับหน่วยงานถึง 4 หน่วยงาน
ซึ่งหมายถึง ต้องจ่ายค่าใช้บริการระบบ NSW ให้กับ NT ที่คิดเป็น KB ถึง 4 ครั้ง แบบนี้ต้นทุนก็เพิ่มขึ้นโดยไม่มีความจำเป็น เพราะข้อมูลที่จะต้องส่งผ่านมันใหญ่มาก ค่าใช้จ่ายที่คิดเป็น KB ก็จะต้องเพิ่มขึ้น สิ่งที่เราเจรจากับ NT ที่ผ่านมาก็คือ อัตราค่าใช้บริการระบบ NSW ควรที่จะต้องลดลงในอัตราที่เหมาะสมกับการทำธุรกิจได้” นางกอบกาญจนากล่าว.
พร้อมดำเนินการทางกฎหมาย
ด้านบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) เคยกล่าวถึง หนังสือขอความเป็นธรรมของ NETbay ว่า เดิม NETbay เป็นผู้ให้บริการ Gateway เชื่อมโยงข้อมูลผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกกับระบบ NSW ของกรมศุลกากร แต่เมื่อกรมศุลกากรมอบให้ NT เข้ามาดำเนินการในปี 2563 ตามมติ ครม.แทนกรมศุลกากร NT ก็ได้มีการ “ลงทุน” จัดหาระบบ NSW ใหม่ทดแทนระบบเดิมของกรมศุลกากร
ดังนั้น NT จึงมีการคิดค่าบริการระบบ NSW เพื่อให้ระบบสามารถดำเนินการได้ ที่ผ่านมา NT ได้เปิดให้ผู้ให้บริการเดิมที่เคยให้บริการอยู่บนระบบ NSW กับกรมศุลกากรสมัครเข้ามาเป็นผู้ให้บริการเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์หรือ NSW Service Provider หรือ NSP โดย NT ได้นำเสนออัตราค่าใช้บริการระบบ NSW ใหม่ (จากที่กรมศุลกากรไม่เคยเรียกเก็บค่าใช้บริการ) โดยมีผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกเข้ามาลงทะเบียนกับ NT แล้วเป็นจำนวน 8 ราย ได้แก่
บริษัททิฟฟ่า อีดีไอ เซอร์วิสเชส, บริษัทอี-คัสตอม เซอร์วิส, บริษัทเค-ซอฟท์แวร์, บริษัทคอมพิวเตอร์ ดาต้า ซิสเต็ม, บริษัทไทยเทรดเน็ท, บริษัทอีดีไอ สยาม, บริษัทขวัญชัย เทคโนโลยี่ แอนด์ คอนซัลแตนท์ และ บริษัทเทรดสยาม อินเตอร์เนชั่นแนล หลังจากที่ NT เปิดให้บริการระบบ NSW ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 และทั้ง 8 รายได้ชำระค่าบริการระบบ NSW ตามที่ NT กำหนด
“ไม่ได้มีปัญหากับผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกสินค้าแต่อย่างใด” ในขณะที่ NETbay ได้ปฏิเสธไม่ลงทะเบียนและปฏิบัติตามข้อกำหนดการเป็นผู้ให้บริการ NSP บนระบบ NSW ใหม่ แต่ NETbay ก็ยังมีการใช้บริการ NSW มาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ NT เปิดทดลองให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จนกระทั่งถึงปัจจุบัน NETbay ก็ยังไม่ขึ้นทะเบียนเป็น NSP และไม่ชำระค่าบริการให้กับ NT “จึงต้องดำเนินการทางกฎหมาย”
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวเข้ามาว่า NETbay อ้างว่า ไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเรียกเก็บค่าใช้บริการระบบ NSW ของ NT แต่ NETbay ดำเนินการในฐานะ Gate Keeper ดูแลระบบและทำหน้าที่ช่วยเหลือลูกค้าที่ใช้บริการแพลตฟอร์มของ NETbay
โดยมีลูกค้าทั้งรายเล็กและรายใหญ่ รวมไปถึงบริษัทขนส่งข้ามชาติ (DHL Fedx สายการเดินเรือ คลังสินค้า) ที่ใช้บริการของ NETbay ถึง 70% นั้นหมายความว่า การให้บริการของ NSP ทั้ง 8 รายที่ลงทะเบียนกับ NT จึงมีลูกค้าเป็นผู้ประกอบการคิดเป็น 30% เท่านั้น
ปัจจุบันบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) คิดค่าบริการกับผู้ให้บริการเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (NSW Service Provider: NSP) จะคิดในอัตราร้อยละ 30 ของอัตราค่าบริการ NSW โดยอัตราดังกล่าวได้มีการประชุมตกลงร่วมกับชมรมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์และบริการแห่งประเทศไทย (ชอบ.) ซึ่ง NETbay ได้เข้าร่วมประชุมด้วย
ส่วนอัตราค่าบริการสำหรับธุรกรรมประเภท e-Express ได้กำหนดอัตราค่าบริการที่ 1.2 บาท/kB โดย NT เรียกเก็บค่าบริการจาก NSP ในอัตราร้อยละ 30 ของอัตราค่าบริการดังกล่าว หรือคิดเป็น 0.36 บาท/kB ซึ่งเป็นอัตราที่ NSP ทั้ง 8 ราย “ยอมรับและชำระค่าบริการด้วยอัตรานี้” โดย NSP จะเรียกเก็บจากผู้ประกอบการสูงสุดไม่เกิน 1.2 บาท/kB
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ