ฉะเชิงเทรา เร่งผลักดันท่าเรือบก ฟื้นเศรษฐกิจหมุนเวียน

เริ่มเห็นทิศทางการพัฒนาหลังเกิดโควิด-19 แล้วสำหรับจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่มีนิคมอุตสาหกรรม 4 แห่ง มีโรงงานขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ กว่า 2,000 แห่ง โดยทางภาคอุตสาหกรรมจังหวัดได้วางแผนผลักดันประเด็นหลักคือ สถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์และการพัฒนานักศึกษาจบใหม่ด้านแรงงาน

ที่มา:ประชาชาชาติธุรกิจ

 

นิคมอุตสาหกรรม 4 แห่ง ได้แก่ 1.นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ 2.นิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทคซิตี้ 3.นิคมอุตสาหกรรม 304 ปาร์ก 4.นิคมอุตสาหกรรม ทีเอฟดี 2

“จีรทัศน์ แจ่มไพบูลย์” ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรากำลังฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติ โรงงานเริ่มเปิดเต็ม 100% ขณะที่นโยบายและพัฒนาอุตสาหกรรมได้ตั้งเป้าผลักดันโครงการสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ (ท่าเรือบก) หรือ Inland Container Depot (ICD) ฉะเชิงเทรา พื้นที่ประมาณ 700 ไร่ อยู่ในพื้นที่ตำบลหนองตีนนก อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยทางจังหวัดอยากให้โครงการสำเร็จภายใน 2-3 ปีนี้

สำหรับพื้นที่ดังกล่าวเหมาะสมเพราะอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟ รองรับการรวบรวมและกระจายสินค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือและราชอาณาจักรกัมพูชาผ่านจังหวัดสระแก้ว เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าเข้าสู่พื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อยกระดับโลจิสติกส์ของประเทศให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าที่ครบวงจร

ขณะเดียวกัน ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทราก็พยายามผลักดันร่วมด้วย เพราะถ้ามีท่าเรือบกจะสามารถช่วยภาคอุตสาหกรรมได้มาก ทั้งเรื่องขนส่งเชื่อมต่อระบบรางไปที่แหลมฉบัง และทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

“ก่อนหน้านี้เมื่อ 5 ปีที่แล้วเคยขึ้นโครงการแล้ว แต่ประชาชนบางกลุ่มยังคัดค้านจึงทำให้ต้องพับโครงการไป ตอนนี้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดได้เข้าไปเจรจากับประชาชน พร้อมอธิบายถึงเหตุผลให้ฟังว่า ถ้าโครงการสำเร็จจะทำให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก แม้ขั้นตอนในการเวนคืนที่ดินค่อนข้างยุ่งยาก ด้านงบประมาณการลงทุนก็ต้องมีการประเมินราคากันใหม่ เพราะราคาที่ดินค่อนข้างสูงขึ้น”

 

ทั้งนี้ “จีรทัศน์” บอกว่า ทางสภาอุตสาหกรรมฯได้เริ่มทำโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่กับทางมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ และวิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา ให้นักศึกษาที่อยู่ชั้นปีที่ 4 เข้ามาฝึกงาน นำร่องโดยบริษัท ซี.ซี.ออโตพาร์ท จำกัด จำนวนนักศึกษารุ่นแรกรับประมาณ 15 คน และเมื่อจบหลักสูตรก็จะรับรุ่นต่อไป ขณะเดียวกันอาจจะต้องมีการประเมินด้วยว่านักศึกษาฝึกงานที่มาสามารถเรียนรู้และทำงานได้จริงหรือไม่ ซึ่งต้องดูผลของโรงงานนำร่องก่อน

“ทางภาครัฐได้พูดคุยกันว่า อยากให้นักศึกษาจบใหม่มีงานทำจึงได้ขอความร่วมมือกับทางสภาอุตสาหกรรมฯช่วยรับนักศึกษาจบใหม่เข้ามาทำงาน โดยลงนามข้อตกลงกัน ให้นักศึกษาที่เรียนปีสุดท้ายที่อยู่ในช่วงฝึกงานลงมาทำงานที่โรงงาน ระหว่างฝึกงานจะมีเงินเดือนให้ เมื่อจบแล้วก็ทำงานที่โรงงานต่อเลย เพราะถ้าหากมาฝึกในช่วงที่ยังไม่สำเร็จการศึกษาเมื่อนักศึกษากลับไปเรียน โรงงานจะขาดพนักงานทันที เรามองว่ามหาวิทยาลัยมีการเรียนการสอนตามหลักสูตร แต่ในบางครั้งนักศึกษาบางกลุ่มจบออกมาแล้วใช้งานไม่ได้ ไม่ตรงกับสายงานที่เปิดรับ หากช่วงฝึกงานได้มาลงมือทำจริง ๆ ก็จะเกิดการเรียนรู้และทำงานได้จริง ซึ่งเป็นข้อดีทั้งนักศึกษาและโรงงาน”

 

นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งโครงการที่จะสามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวของจังหวัดได้คือ โครงการของ บจก.แสนภูดาษเฮลท์คลับแอนด์ทรีทเมนท์ ที่ได้เปิดศูนย์ดูแลสุขภาพครบวงจร บนเนื้อที่เกือบ 100 ไร่ บริเวณอำเภอบางปะกง ภายในโครงการประกอบไปด้วยการให้บริการเกี่ยวกับสุขภาพที่หลากหลาย เช่น หัตถเวช ให้บริการทางด้านการดูแลสุขภาพด้วยศาสตร์ทางด้านการแพทย์แผนไทย ไฮโดรเทอราพี (hydrotherapy) ศาสตร์การออกกำลังกาย การบำบัดและผ่อนคลายผิวด้วยน้ำ (hydro gym) คลับ สปา กายภาพบำบัด ออนเซ็น ฟิตเนส เป็นต้น

ทางจังหวัดและสภาอุตสาหกรรมฯมองว่า โครงการดังกล่าวอยู่ใกล้มอเตอร์เวย์ นักท่องเที่ยวที่มาจากสนามบินสามารถแวะใช้บริการได้ ตอนนี้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดได้ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทุกอำเภอเตรียมแหล่งท่องเที่ยวไว้รองรับแล้วเพราะจะทำให้เศรษฐกิจฉะเชิงเทราโตขึ้น