ฝนทำพิษทุเรียนใต้วูบหมื่นล้าน เร่งสกัดโควิดส่งออกจีนดันราคา
14 จังหวัดใต้ตั้งรับสกัดทุเรียนอ่อน-ปนเปื้อนโควิดหวั่นกระทบส่งออกจีน ผู้ว่าฯชุมพรออกมาตรการคุมล้ง-สวนทุเรียน หากฝ่าฝืน “สั่งปิด” ทันที เผยตลาดรวมพลิกล็อกปีนี้ผลผลิตวูบหนัก 70% ฝนตกดอกร่วงเสียหายนับหมื่นล้าน ฟากทุเรียนตะวันออกยังวุ่น ส่งออกวันละ 700 ตู้ แต่เจอปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน
ที่มา : ประชา่ชาติธุรกิจ
ทุเรียนใต้ซัพพลายลดวูบ
นายวีรวัฒน์ จีรวงศ์ เจ้าของสวนทุเรียน “สวนทวีทรัพย์” ต.ทะเลทรัพย์ อ.ปะทิว จ.ชุมพร ในฐานะนายกสมาคมชาวสวนไม้ผลจังหวัดชุมพร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้ทุเรียนได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกลงมามาก ทำให้การติดผลน้อยมีปัญหาดอกร่วง ทำให้ผลผลิตลดลง 70% เหลือออกสู่ตลาด 30%
จากเดิมทุเรียนของชุมพรมีผลผลิต 7-8 แสนตัน แต่ปีนี้เหลือไม่ถึง 3 แสนตัน ปกติทุเรียนภาคใต้จะออกสู่ตลาดปลายเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนมิถุนายน และจะเริ่มออกมากขึ้นไปถึงเดือนกรกฎาคม
ขณะนี้ทุเรียนและมังคุดภาคตะวันออกส่งออกทางเรือวันละ 700 ตู้คอนเทนเนอร์ เพราะปัญหาเข้มงวดในการตรวจโควิด-19 ทำให้การขนส่งทางบกไม่สะดวก และติดปัญหาเรื่องตู้คอนเทนเนอร์กลับมารับไม่ทัน แต่ราคาทุเรียนยังดีอยู่ ส่วนทุเรียนชุมพรคาดว่าราคาคงพุ่งถึงกิโลกรัมละ 140-150 บาท
“เมื่อวันที่ 18-19 พฤษภาคม 2565 หน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้มีการประชุมเรื่องทุเรียน และมีคำเตือนว่าอย่าเพิ่งรีบตกลงซื้อขายกับพ่อค้าที่เริ่มลงมาทางใต้แล้ว ซึ่งสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 กรมวิชาการเกษตรได้เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ขอให้ลงนามคำสั่งมาตรการป้องกันโควิด-19 ในการรับซื้อทุเรียน ต้องมีการตรวจ ATK ทุกคนในล้งทุก ๆ สัปดาห์
หากพบใครติดเชื้อต้องแยกออกไปกักตัว ที่ผ่านมาภาคตะวันออกมีหน่วยเคลื่อนที่ตรวจสอบโควิดในล้งต่าง ๆ ทั้งที่ขั้วทุเรียน กล่องที่ใช้บรรจุทุเรียน หากพบโควิดในตู้คอนเทนเนอร์ใด ไม่ให้ปิดตู้ ผู้ที่จะปิดตู้ได้คือเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร ถือเป็นการคัดกรองทุเรียนต้นทาง เพราะถ้าจีนตรวจพบจะยกเลิกการนำเข้าทุเรียนจากเราทันที”
สำหรับปัญหาทุเรียนอ่อนหรือทุเรียนด้อยคุณภาพนั้น ชุมพรกำหนดวันตัดทุเรียนตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนเป็นต้นไป ชาวสวนจะเริ่มตัดทุเรียนเพื่อการส่งออก โดยจังหวัดจะมีการประกาศให้ทุกคนทราบเรื่องนี้
ทุเรียนใต้เงินหายนับหมื่นล้าน
ดร.ฉัตรกมล มุ่งพยาบาล นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” สถานการณ์ทุเรียนภาคใต้ในปี 2565 จากยอดประเมินไว้ที่จะได้ผลผลิตประมาณ 620,000 ตัน จากพื้นที่ปลูก 670,000 ไร่ จะขาดหายไปประมาณ 60% เท่ากับเป็นเงินเสียหายนับหมื่นล้านบาท
สาเหตุจากมีพายุเข้าฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นจะมีฝนทิ้งช่วงแล้วออกดอกใหม่จะให้ผลผลิตในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2565 จะมีทุเรียนนอกฤดูจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 10-20%
สวนล้งตื่นสกัดโควิด-ทุเรียนอ่อน
นายปัณณพงศ์ พิสิฐเศรณี (บุตรชายของนายนิพจน์ จีนสีคง) เกษตรกรรุ่นใหม่ เจ้าของสวนทุเรียนลุงพจน์ ในพื้นที่หมู่ 12 ต.ท่าแซะ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทุเรียนภาคใต้เริ่มมีผลผลิตออกสู่ตลาดคือประมาณปลายเดือนพฤษภาคม คาดว่าในปีนี้ทุเรียนจะให้ผลผลิตน้อยกว่าปีที่ผ่านมา
และจากการเข้าร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัด คาดการณ์ว่าผลผลิตน่าจะลดลงประมาณ 70% จากเดิมที่ในแต่ละปี ผลผลิตในชุมพรจะอยู่ที่ประมาณ 700,000 ตัน
แต่ปีนี้อาจลดเหลือไม่ถึง 250,000 ตัน สาเหตุมาจากทุเรียนแตกยอดอ่อน เพราะฝนมาผิดจังหวะ ทำให้ดอกที่คาดว่าจะออกกลายเป็นยอดอ่อน ความชื้นของสภาพอากาศเพราะฝนตก ฟ้าปิด ไม่มีแสงแดด ทำให้ต้นทุเรียนขาดการสังเคราะห์แสง ลำต้นอ่อนแอ และเชื้อรารากเน่า โคนเน่า เข้าทำลายได้ง่ายและยืนต้นตาย
ผลผลิตที่ใกล้เก็บเกี่ยวจะมีการสร้างน้ำตาลในผลทุเรียน ทำให้เชื้อราที่แฝงอยู่ในท่ออาหารวิ่งเข้าสู่ผล ทำให้เกิดการเน่าและร่วงหล่นเป็นจำนวนมาก เมื่อผลผลิตน้อยลงจะทำให้ราคาทุเรียนสูงขึ้น จากเดิมอยู่ที่กิโลกรัมละ 100-120 บาท แต่ปีนี้ราคาคงขยับขึ้นไปเป็นประมาณกิโลกรัมละ 140-160 บาท
ส่วนกรณีที่ประเทศจีนเคยตรวจพบเชื้อโควิด-19 ในทุเรียนของภาคตะวันออก ทำให้บรรดาล้งทุเรียนใน จ.ชุมพร รวมทั้งจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้มีการตื่นตัวและเข้มงวดกวดขันมาก โดยแต่ละล้งต้องให้ความสำคัญในการตรวจสอบทุเรียนต้นทางก่อนส่งให้ล้งรับซื้อ ซึ่งสมาพันธ์ผู้ส่งออกทุเรียนแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการให้สมาชิกทุกคนถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา เพราะหากมีการพบว่าทุเรียนมีเชื้อโควิด-19 แม้แต่ล้งเดียว จะกระทบกันหมดทั้งระบบ
สำหรับปัญหาทุเรียนอ่อนในปีนี้ จังหวัดชุมพรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ถอดบทเรียนที่เกิดขึ้นแถว จ.จันทบุรี ซึ่งพบทุเรียนอ่อน โดยมีการคาดโทษผู้รับซื้อและส่งออกทุเรียนว่า หากมีการตรวจพบว่ามีทุเรียนอ่อนในผู้ประกอบการรายใดจะมีการขึ้นบัญชีดำ (black list) เอาไว้
หากพบอีกเป็นครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ก็มีโทษหนักถึงขั้นปิดล้ง หรือจุดรับซื้อนั้น ๆ ไปเลย บางล้งรับซื้อทุเรียนแล้วพบว่ามีทุเรียนอ่อนปะปนมา ก็พยายามจะระบายทุเรียนอ่อนนั้นออกเพราะถือเป็นต้นทุน แต่ลืมคิดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของทุเรียนส่งออกมาก ผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนจะต้องมีใบรับรองมาตรฐาน (GAP) และใบรับรองการตรวจแป้งในทุเรียนที่ออกโดยเจ้าหน้าที่เกษตร
ชุมพรผนึก 14 จังหวัดออกกฎเข้ม
นายอุดมพร เสือมาก ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชุมพร (ศวพ.ชุมพร) สำนักงานวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 (สวพ.7) กรมวิชาการเกษตร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในพื้นที่ภาคใต้จังหวัดชุมพรเป็นจังหวัดที่มีล้งเข้ามาตั้งจุดรับซื้อทุเรียนมากที่สุด 421 แห่ง ดังนั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทาง ศวพ.ชุมพร ได้ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัด กรมส่งเสริมการเกษตร จัดประชุมหารือกับสาธารณสุขจังหวัด หน่วยงานต่าง ๆ ของจังหวัดชุมพร โดยมีนายโชตินรินทร์ เกิดสม ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เป็นประธาน
เพื่อวางแผนควบคุมและป้องกันไม่ให้มีทุเรียนอ่อน และเชื้อโควิด-19 ปนเปื้อนไปในทุเรียนที่ส่งออก เช่นเดียวกับที่จังหวัดจันทบุรีดำเนินการ ที่ประชุมได้ข้อสรุปโดยผู้ว่าราชการจังหวัดได้ออกกำหนดวันทุเรียนอย่างเป็นทางการเป็นคร้้งแรก ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565
นอกจากนี้ เตรียมออกคำสั่งจังหวัดชุมพรเรื่อง มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในโรงคัดบรรจุผลไม้ (ล้ง) ทั้งนี้ ทาง สวพ.7 และ สวพ.8 ซึ่งรับผิดชอบ 14 จังหวัดภาคใต้ ได้ประสานขอความร่วมมือไปยัง 14 จังหวัดในภาคใต้ให้ปฏิบัติไปในทางเดียวกัน
เช่น 1.ล้งที่จะเปิดดำเนินกิจการได้ต้อง “ผ่าน” การประเมินจากศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอ (ศปก.อ.) ในพื้นที่ และ สวพ.7 เท่านั้น 2.ก่อนล้งเปิดดำเนินการต้องตรวจ ATK ทุกคน รวมถึงบุคคลในครอบครัวที่พักอาศัยร่วมกัน และทุก 7 วันต้องสุ่มตรวจ ATK ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ให้กับกลุ่มแรงงานทุกคนในล้ง 3.กรณีแรงงานเดินทางมาจากจังหวัดอื่น ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่
4.กรณีแรงงานจะเคลื่อนย้ายไปอำเภออื่น ต้องตรวจ ATK และมีผลตรวจหาเชื้อเป็นลบ ภายในไม่เกิน 7 วัน 5.หากพบเชื้อโควิด-19 ในล้ง ต้องแยกกักตัว ทำความสะอาดฆ่าเชื้อในล้ง กรณีที่มีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรการ จะพิจารณา “สั่งปิด” สถานประกอบการไม่เกิน 15 วัน ทั้งนี้ ให้ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอ (ศปก.อ) จัดชุดปฏิบัติการระดับตำบล/หมู่บ้าน ในการตรวจสอบล้ง หรือสวนผลไม้ในพื้นที่ทุก 7 วัน
ทั้งนี้ หากยังพบการฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัด หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการตามกฎหมายกับนายจ้าง หรือผู้ประกอบการ หรือผู้เกี่ยวข้อง และแรงงานต่างด้าวให้ถึงที่สุด ทั้งนี้ หากพบผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้อาจมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และอาจต้องวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548