ไทยได้หรือเสีย? เปิดหวูดรถไฟไฮสปีด สปป.ลาว-จีน

โครงการรถไฟความเร็วสูงระหว่าง สปป.ลาว-จีน เตรียมเปิดดำเนินการในวันชาติของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 นี้ เพื่อให้บริการโดยสารทั่วไป

รวมถึงขนส่งสินค้า ส่งผลให้การเดินทางระหว่างสองประเทศสะดวกขึ้น และถือเป็นสิ่งที่น่าจับตาถึงโอกาส และข้อกังวลเกี่ยวกับการค้าการลงทุน และการท่องเที่ยว ซึ่งจะมีผลเชื่อมโยงกับการชายแดนไทย-ลาวอย่างเลี่ยงไม่ได้

บิ๊กโปรเจ็กต์ 6,800 ล้าน

นายกวิน วิริยพานิชย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเวียงจันทน์ สปป.ลาว เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการลงทุนรถไฟความเร็วสูง (High Speed Train) สปป.ลาว-จีน เป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐบาลลาวและจีน มูลค่าการลงทุนประมาณ 6,000-6,800 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยฝ่ายจีนถือหุ้น 70% และรัฐบาลลาว 30% ระยะทาง 414 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นจากนครหลวงเวียงจันทน์

ปลายทางคือชายแดนลาว-จีนบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา เป็นรถไฟรางเดี่ยวขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ขนาดรางกว้าง 1.435 เมตร โดยขบวนรถไฟขนส่งสินค้า กำหนดความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนรถไฟสำหรับผู้โดยสารกำหนดความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมงทั้งนี้ ระบบได้ออกแบบเผื่อไว้สำหรับการเดินทางพื้นที่ราบตั้งแต่วังเวียงถึงนครหลวงเวียงจันทน์ ให้สามารถวิ่งได้เร็วถึง 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

โครงการรถไฟลาว-จีน ประกอบด้วย 32 สถานี ซึ่งแยกเป็นสถานีรถไฟขนส่งสินค้าทั้งหมด 22 แห่ง สถานีโดยสาร 10 แห่ง มีสถานีหลัก 5 แห่ง ได้แก่ 1) สถานีบ้านนาเตย 2) สถานีบ้านถิ่น-นาแล เมืองไซ แขวงอุดมไซ 3) สถานีแขวงหลวงพระบาง 4) สถานีวังเวียง 5) สถานีนครหลวงเวียงจันทน์ ผ่านอุโมงค์ 75 แห่ง ความยาวโดยรวมประมาณ198 กิโลเมตร และสะพานรถไฟ 163 แห่ง รวมระยะทางประมาณ 61 กิโลเมตร

“การเดินทางโดยใช้รถไฟความเร็วสูงจาก สปป.ลาวไปจีน ใช้เวลาประมาณ 7-8 ชั่วโมงถึงจีน แต่หากเป็นการขนส่งสินค้าใช้เวลา 10-12 ชั่วโมง โดยประมาณ เป็นการใช้ระยะเวลาในการเดินทางปกติและขนส่งสินค้าได้เร็วมาก หากเมื่อเทียบจากการเดินทางโดยรถทั่วไป หรือรถขนส่งสินค้า ดังนั้นจะเห็นว่าจะทำให้การเดินทางสะดวกมากขึ้น ไม่เพียงประชาชน นักท่องเที่ยว หรือการขนส่งสินค้าทั้งจาก สปป.ลาวไปจีน หรือจากจีนมา สปป.ลาว”

 

นายกวินกล่าวอีกว่า ก่อนที่จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ทาง สปป.ลาวได้จัดส่งบุคลากรที่ไปฝึกอบรมการให้บริการที่จีน 200-300 คน เพื่อเตรียมความพร้อมและให้มีองค์ความรู้ในการให้บริการเดินรถไฟความเร็วสูง ส่วนการบริหารจัดการการให้บริการ รวมไปถึงการคิดค่าบริการ โดยส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทจีนที่เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในการจัดการทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียด โดยต้องรอติดตามอีกครั้งซึ่งยังไม่มีข้อมูลออกมา

เชื่อมโยงอาเซียน-จีน

 

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าเมื่อมีการเปิดให้บริการแล้วจะทำให้การขนส่งสินค้าหรือเดินทางไปจีนสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งใช้ระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 7-12 ชั่วโมง ในการเดินทางไปจีน

ทั้งไปท่องเที่ยวหรือการขนส่งสินค้า แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องจับตาเมื่อการเดินทางสะดวกผลกระทบด้านการท่องเที่ยวก็จะเติบโต แต่สิ่งที่ตามมาคือการขนส่งสินค้าก็ง่ายขึ้น ไม่ใช่สินค้าจาก สปป.ลาวไปจีน แต่รวมถึงจีนเข้ามา สปป.ลาวด้วย และไม่ใช่เข้า สปป.ลาวอย่างเดียว แต่รวมไปถึงประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วย ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น

ดังนั้น โอกาสที่สินค้าจีนจะเข้ามาทำตลาดใน สปป.ลาวก็มีสูงขึ้น และอาจจะขยายไปยังประเทศใกล้เคียงได้ง่ายขึ้น และประเทศในกลุ่มนี้ก็เป็นตลาดสำคัญของไทยด้วย หากจะแข่งขันด้านราคาก็อาจจะสู้ลำบาก ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม ส่วนสินค้าไทยที่จะไปจีน

หากใช้เส้นทางดังกล่าวก็อาจจะสะดวกรวดเร็ว แต่ก็ต้องติดตามเรื่องของกฎระเบียบการขนส่งและการนำเข้าสินค้าของจีนด้วยแต่ทั้งนี้ ไทยก็ยังมีเส้นทางอื่นที่ส่งออกไปจีนได้สะดวกเช่นกัน นอกจากนี้ ทางจีนยังขยายการลงทุนโครงสร้างต่าง ๆ รอบสถานีรถไฟด้วย ซึ่งก็จะเป็นโอกาสในการค้าสินค้า หรือการส่งออกไปลาวได้เพิ่มขึ้น

จุดอ่อน-จุดแข็ง

นายวราวุธ มีสายญาติ นายกสมาคมนักธุรกิจไทยใน สปป.ลาว กล่าวว่า ภาคเอกชนไทยทั้งใน สปป.ลาวและในไทยเอง มองผลจากการเปิดรถไฟความเร็วสูงสปป.ลาว-จีนไว้ 3 ด้าน คือ ด้านการค้าสินค้า ซึ่งมีทั้งบวกและลบ โดยผลกระทบด้านลบคือโอกาสที่สินค้าจีนจะเข้ามา สปป.ลาว หรือกระจายเข้ามาในไทย หรือประเทศในภูมิภาคจะง่ายขึ้น เพราะใช้ระยะเวลาในการขนส่งเพียง 15-15 ชั่วโมง จากปกติ 1-2 วัน

ต่อไปไทยจะรับมือสินค้าจีนอย่างไร ส่วนผลกระทบทางบวกการขนส่งสินค้าไทย โดยเฉพาะผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด ลำไย ไปจีนสะดวกและเร็วขึ้น ผลไม้มีความสดใหม่ การขนส่งสินค้าอื่น ๆ และจะช่วยเหลือในการลดต้นทุนค่าขนส่งออกไปด้วย

 

นอกจากนี้ ในเรื่องของการลงทุนและด้านการท่องเที่ยว ส่วนใหญ่มองเป็นผลบวกมากกว่าผลกระทบ เมื่อรถไฟเปิดการลงทุนโดยรอบก็จะขยายตัว อีกทั้ง สปป.ลาวยังต้องการดึงนักลงทุน โดยเฉพาะไทยเข้าไปลงทุนในการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกไปจีนด้วย ซึ่งเป็นโอกาสของไทยและสอดคล้องกับนโยบายรัฐที่ต้องการส่งเสริมนักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ

ขณะที่ด้านการท่องเที่ยวเส้นทางรถไฟเป็นเส้นทางที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทาง ซึ่งเชื่อว่าคนจีนจะใช้เส้นทางนี้เข้ามาท่องเที่ยวทั้งใน สปป.ลาว รวมไปถึงไทย โดยไทยจะดำเนินการอย่างไรเพื่อดึงโอกาสนี้ โดยเฉพาะจังหวัดหนองคายที่จะสร้างจุดเด่นเพื่อดึงการท่องเที่ยวจากคนจีนอย่างไร

เบื้องต้นจากการติดตามการเดินรถไฟความเร็วสูงจากการเปิดบริการ คาดว่าจะเปิดบริการเดินเที่ยวรถไฟ 6 เที่ยว หรือ 6 ขบวน โดยแบ่งเป็น 4 ขบวนสำหรับการขนส่ง 2 ขบวน สำหรับโดยสารทั่วไปและอนาคตจะมีขบวนรถไฟที่ให้บริการ 18 ขบวน แบ่งเป็น 14 ขบวนสำหรับขนส่ง และ 4 ขบวนสำหรับโดยสารทั่วไป ส่วนรายละเอียดต่าง ๆ ก็ยังต้องติดตามต่อไป

พร้อมกันนี้ จีนก็ยังมีการลงทุนทางด่วน สปป.ลาว-จีนด้วย ซึ่งก็ต้องติดตาม แต่เชื่อว่าจะเป็นโอกาสการขนส่งในอนาคต

ดัน “ค้าชายแดน” ฉลุย

ล่าสุด “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้หารือกับนายแสง สุขะทิวง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)

โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างจาก 6,300 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 3.41 แสนล้านบาทในปี 2564 ซึ่งผ่านมาถึง 5 เดือนแรก ทั้งสองฝ่ายมีการค้าระหว่างกัน มูลค่า 93,605 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.6% โดยสินค้าสำคัญ เช่น น้ำมันสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

ปัจจุบันไทย-สปป.ลาวมีจุดผ่านแดน 49 จุด เปิดดำเนินการขณะนี้ 14 จุด และเตรียมจะเปิดอีกเร็ว ๆ นี้ อีก 7 จุดผ่านแดน ประกอบด้วย 1.จุดผ่านแดนถาวรปากแซง นาตาล จ.อุบลราชธานี 2.จุดผ่านแดนถาวรเชียงคาน จ.เลย 3.จุดผ่านแดนถาวรท่าเรือหนองคาย 4.จุดผ่านแดนถาวรท่าเทียบเรือเทศบาลนครพนม 5.จุดผ่านแดนถาวรท่าเทียบเรือ จ.มุกดาหาร 6.จุดผ่อนปรนการค้าบ้านแจมป๋อง จ.เชียงราย และ 7.จุดผ่อนปรนการค้าบ้านหม้อ จ.หนองคาย

 

แม้ว่าทุกด่านจะไม่ได้เชื่อมโยงโดยตรงกับรถไฟไฮสปีดเส้นนี้แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากการเชื่อมโยงเส้นทางนี้สำเร็จ จะสามารถเชื่อมต่อมายังโครงข่ายรถไฟไทย ที่ท่านาแล้ง-เมืองหาดทรายฟอง สปป.ลาว สร้างโอกาสการค้าและการลงทุนระหว่างกันในอนาคต