ไม่ห้ามรถบรรทุกเข้ากรุงแก้ฝุ่น ตำรวจเท กทม.ตั้งจุดตรวจควันดำแทน

ปรับแผนแก้ฝุ่นจิ๋ว 1 ธ.ค. 63 “สตช.” ยอมเบรกประกาศห้ามรถบรรทุกวิ่งเข้ากรุงแล้ว ลุยตั้งด่านตรวจควันดำ 20 จุด พร้อมรณรงค์ WFH ด้านกรมโรงงานฯแจงมาตรการขอความร่วมมือโรงงานอุตสาหกรรมลดกำลังผลิต ไม่ได้บังคับ มั่นใจโรงงานไม่ใช่ต้นเหตุฝุ่น PM 2.5 เร่งกำชับทีมศูนย์วิจัยประจำภูมิภาค เข้มงวดสุ่มตรวจ

ที่มา : www.prachachat.net

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า หลังจากภาครัฐเตรียมการบังคับใช้มาตรการห้ามรถยนต์บรรทุกเข้ากรุงเทพฯรวมถึงการขอความร่วมมือภาคเอกชนให้ลดกำลังการผลิต นอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 แล้ว ยังจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าเข้าท่าเรือกรุงเทพ ซ้ำเติมเอกชนในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว

นางสาวกัญญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.หรือสภาผู้ส่งออก) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 ได้รับแจ้งจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ถึงการประชุมคณะกรรมการและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในกรุงเทพฯ (บก.จร.) ครั้งที่ 2/2563 ซึ่งมี พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร.เป็นประธาน ได้มีการชี้แจงประเด็นปัญหาและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

หากมีการบังคับใช้มาตรการห้ามรถยนต์บรรทุกตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปเข้าเขตกรุงเทพฯ ช่วงเวลา 06.00-21.00 น. วันที่ 1 ธ.ค. 2563-28 ก.พ. 2564 ซึ่งทางกทม.ใช้เป็นแนวทางในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในเขตกรุงเทพฯ

 

“ที่ประชุมสรุปว่า ทาง บก.จร.จะไม่ออกประกาศห้ามวิ่งรถบรรทุกโดยจะมีการตั้งจุดตรวจบูรณาการ รถควันดำ (จร. ขบ. กรมควบคุมมลพิษ) แบบเข้มข้น
20 จุด ให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 พร้อมทั้งให้ตั้งคณะทำงาน ซึ่งมี สตช. ขบ. พร้อมด้วยกรมควบคุมมลพิษ และสหพันธ์การขนส่งทางบกฯร่วมด้วย”

อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ขอให้หน่วยงานทุกภาคส่วนดำเนินการและประชาสัมพันธ์ให้ทำงานที่บ้าน (WFH) เป็นเวลา 3 เดือนช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ โดยให้ กทม.ช่วยดำเนินการประชาสัมพันธ์ด้วย

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงกรณีที่ได้ออกเวียนประกาศไปยังอุตสาหกรรมจังหวัด เพื่อขอความร่วมมือให้โรงงานอุตสาหกรรม ควบคุมดูแลการระบายมลพิษทางอากาศจากปล่อง ควบคุมดูแลหม้อน้ำหรือหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน และอาจรวมไปถึงการลดกำลังการผลิต

ในช่วงเกิดสถานการณ์วิกฤตด้านฝุ่น PM 2.5 ระหว่างเดือน พ.ย. 2563 ถึงเดือน ก.พ. 2564 นั้น เป็นการดำเนินการเพื่อขอความร่วมมือกับทางภาคเอกชน ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ได้ดำเนินการต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ตั้งแต่ปี 2562 แล้ว

“ขณะนี้เข้าสู่ฤดูหนาว อากาศค่อนข้างแห้ง เป็นช่วงฤดู ที่ทุกภาคส่วนจะต้องมาช่วยกัน ซึ่งรูปแบบการช่วยลดมลพิษสามารถทำได้หลายรูปแบบ ไม่ใช่เพียงการลดกำลังการผลิต แต่ใจความสำคัญคือการควบคุมดูแลการระบายมลพิษออกมา เราไม่ได้ไปบังคับว่าต้องลดกำลังการผลิต ไม่ได้จะไปซ้ำเติมเอกชน เพราะรู้สถานการณ์เศรษฐกิจตอนนี้ จะไม่มีบทลงโทษใด ๆ แต่เราต้องการกำชับให้โรงงานดูแลระบบการกรองอากาศที่ปล่อยออกมาจากปล่องควัน”

อย่างไรก็ตาม ยืนยันได้ว่าสาเหตุหลักของ PM 2.5 ไม่ได้เกิดจากภาคอุตสาหกรรม และขณะนี้ผู้ประกอบการต่างก็ปรับตัวโดยใช้พลังงานทางเลือกอื่น ๆ เช่น แก๊ส ไม่ใช่น้ำมันเตา ดังนั้น ฝุ่นควันที่ออกมามันจึงไม่ใช่ PM 2.5

สำหรับแนวทางการตรวจสอบติดตามการปล่อยมลพิษโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศนั้น ทางกรมมีระบบตรวจวัดปริมาณฝุ่นควันด้วย เครื่องตรวจวัดความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศจากปล่องที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศแบบอัตโนมัติต่อเนื่อง หรือเครื่อง CEMS (continuous emission monitoring systems)

โดยโรงงานจะส่งรายงานผลการตรวจวัดมายังศูนย์เฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม หากพบว่าเกินมาตรฐานจะมีบทลงโทษตามกฎหมาย ซึ่งเริ่มจากการตักเตือน สั่งระงับการดำเนินการเพื่อปรับปรุงระบบ จนถึงขั้นรุนแรง คือ ถอนใบอนุญาตโรงงาน

“กรอ.มีศูนย์วิจัยและเตือนภัยสิ่งแวดล้อมประจำภูมิภาค เป็นผู้ตรวจวัดมลพิษที่ปล่อยออกมาจากปากปล่อง ด้วยวิธี คือ งานภาคสนามตรวจประจำปีใช้วิธีสุ่มตรวจ และลงพื้นที่ตรวจเมื่อได้รับการรายงาน การแจ้ง การร้องเรียน เช่น ตรวจลักษณะของการประกอบการ ตรวจเพื่อการรับรองหม้อไอน้ำ ทั้งหมดคือแผนงานปฏิบัติเพื่อป้องกันเรื่องมลพิษ