จัดทัพ 20 กระทรวง-เอกชน “รื้อกฎหมาย”ด่วน รับโควิด

“บวรศักดิ์” ชี้ไทยขึ้นชื่อเรื่องใบอนุญาตทั้งประเทศเกือบ 5,700 เรื่อง เร่งตั้ง คกก.ปฏิรูปกฎหมายเร่งด่วนรับโควิด ดึง 20 กระทรวง-เอกชน-นักวิชาการร่วมชี้เป้ากฎหมายที่ต้องรื้อให้ทันสมัย ลดอุปสรรคลดต้นทุนการทำธุรกิจ

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย และประธานกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน กล่าวว่า รัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเร่งด่วน และคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเร่งด่วนรับสถานการณ์โควิดขึ้นมา โดยมีการอนุกรรมการที่มีองค์ประกอบมาจาก 20 กระทรวง ซึ่งเป็นตัวแทนของหน่วยงานที่ใช้กฎหมาย ภาคเอกชนที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และนักวิชาการ เช่น ทีดีอาร์ไอ หรือสถาบันต่าง ๆ และที่ปรึกษากฎหมาย เพื่อทำหน้าที่รวบรวมว่ามีกฎหมายฉบับใดที่สมควรจะได้รับการพิจารณาแก้ไข

 

“คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเร่งด่วนรับสถานการณ์โควิดจะพิจารณว่ากฎหมายอะไรต้องแก้ไขเพื่อปลดล็อกและอำนวยความสะดวก ฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงโควิด เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เช่น ที่เราต้องการเพอร์มาแนนซ์เรซิเดนซ์ แต่มันแปลกที่เราดันมีกฎหมายกำหนดว่าจะอนุญาตให้ผู้เชี่ยวชาญแต่ละประเทศเข้ามาอยู่ที่ไทยได้ประเทศละไม่เกิน 100 คน ทำไมเราจึงมีกฎแบบนี้ซึ่งไม่สอดคล้องกัน นอกจากเรื่องกฎหมายแล้วจะต้องมีการวางขั้นตอน วิธีการ ว่าจะแก้ไขอย่างไร และรัฐบาลจะต้องมีเงินมาช่วยเหลือด้วย”

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีกฎหมายที่จำเป็นต้องแก้ไขจำนวนมาก โดยหากนับเฉพาะเรื่องใบอนุญาตจะมีประมาณ 5,700 เรื่องซึ่งยิ่งมีจำนวนมากยิ่งไปจำกัดการประกอบธุรกิจ และนำไปสู่ปัญหาเรื่องการคอร์รัปชั่น และเป็นการจำกัดการแข่งขัน

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าจะตั้งโรงงานผลิตสุรา ต้องขออนุญาตก่อสร้างโรงงาน เปิดโรงงาน ติดตั้งเครื่องจักรต้องขนาด 1 แสนลิตร และต้องมีใบอนุญาตที่เกี่ยวกับเรื่องสุราอีก 3 ใบ คือ ใบอนุญาตขอผลิตสุรา ใบอนุญาตขอมีเชื้อหมัก และใบอนุญาตจำหน่าย ซึ่งทั้งหมดนี้มีอายุ 2 ปี เมื่อครบกำหนด 2 ปี จะต้องขอใบอนุญาตใหม่ ทั้งหมดนี้ทำให้ไม่มีผู้ประกอบการหน้าใหม่เข้าสู่ตลาด

หรือกฎหมายที่เกี่ยวกับการว่าจ้างแรงงานต่างด้าว เช่น ผมต้องการจ้างแรงงานลาวมาเป็นแม่บ้านทำความสะอาดผมจะต้องมีสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน และสำเนาโฉนดที่ดิน ถามว่าจำเป็นต้องยืนยันว่าผมเป็นเจ้าของบ้านที่จ้างแรงงานหรือไม่และที่สำคัญเอกสารทั้งหมดต้องถ่ายเอกสารให้เจ้าหน้าที่ซึ่งรับผิดชอบคนละด้าน 4 ชุด เฉพาะค่าถ่ายเอกสารก็ 100-200 บาทแล้ว เป็นต้น

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์กล่าวว่า แผนปฏิรูปกฎหมายของประเทศ และนำไปประชาพิจารณ์ทั้งที่เชียงใหม่ อุดรธานี สงขลา และกรุงเทพฯแล้ว ประชาชนบอกว่าดี

 

“การแก้ไขกฎหมายเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะต้องมีเจ้าภาพ เทคโนโลยี วิธีการแนวทางการพิจารณา และที่สำคัญรัฐบาลต้องมีนโยบายเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งการที่ไทยมีรัฐบาลผสม ทำให้การดำเนินการแก้ไขลำบาก ฉะนั้น ต้องอาศัยการขันชะเนาะจากฝ่ายการเมือง”

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ