ทกท. เปิดท่าเรือชายฝั่ง “20G” หนุนขนส่งทางน้ำ/ลดต้นทุนโลจิสติกส์
การท่าเรือฯเปิดบริการท่าเรือชายฝั่ง 20G ท่าเรือกรุงเทพ เต็มรูปแบบ ยกระดับการขนส่งสินค้าและตู้สินค้าระหว่างท่าเรือกรุงเทพกับท่าเรือแหลมฉบัง เชื่อมโยงกับท่าเรือภายในลำน้ำเจ้าพระยา และท่าเรือชายฝั่งอื่นๆ ลดต้นทุนโลจิสติกส์ และปัญหาการจราจรแออัด
เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2561 นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิดท่าเทียบเรือชายฝั่ง 20G ท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) นายสุรงค์ บูลกุล ประธานกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร นายมานิตย์ สุธาพร ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เรือตรี ทรงธรรม จันทประสิทธิ์ รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย สายวิศวกรรม รักษาการแทนผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย นายโกมล ศรีบางพลีน้อย ผู้อำนวยการท่าเรือกรุงเทพ ผู้บริหารระดับสูง กทท. เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร หน่วยงานราชการต่างๆ สมาคมและสมาพันธ์ ผู้ประกอบการภาคเอกชน แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน เข้าร่วมพิธีฯ ณ บริเวณท่าเทียบเรือชายฝั่ง 20G ท่าเรือกรุงเทพ
นายไพรินทร์ ว่า ท่าเทียบเรือนี้จะผลักดันการเป็นไทยแลนด์ 4.0 ในการขนส่งทางน้ำและส่งเสริมระบบโลจิสติกส์ของประเทศโดยใช้เรือชายฝั่ง ซึ่งท่าเทียบเรือชายฝั่ง 20G สามารถรองรับเรือชายฝั่งได้ประมาณปีละ 2,500 ลำ หรือคิดเป็นปริมาณตู้สินค้า 240,000 ที.อี.ยู ต่อปี จะช่วยลดปริมาณรถบรรทุกที่วิ่งบนท้องถนนเชื่อมโยงไปยังท่าเรือแหลมฉบังได้ประมาณ 200,000 เที่ยวต่อปี ซึ่งช่วยลดปัญหาจราจรติดขัดได้และยังลดต้นทุนการขนส่ง
นอกจากนี้ ยังยกระดับการขนส่งสินค้าและตู้สินค้าระหว่างท่าเรือกรุงเทพกับท่าเรือแหลมฉบัง โดยสามารถเชื่อมโยงกับท่าเรือภายในลำน้ำเจ้าพระยา และท่าเรือชายฝั่งอื่นๆ และยังอำนวยความสะดวกทางการค้าและยังเพิ่มขีดความสามารถด้านการส่งออกของประเทศด้วย ที่สำคัญยังได้รับความร่วมมือจากกรมศุลกากรในการทำพิธีการศุลกากรส่งออกว่าด้วยการตรวจปล่อยสินค้าเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวอีกด้วย
นอกจากนี้ ตนมอบหมายให้ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ไปหารือร่วมกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ในการเชื่อมต่อทางด่วนบูรพาวิถีเข้ามาในเขตท่าเรือกรุงเทพ เพื่อแยกการจราจรระหว่างรถทั่วไปกับรถบรรทุกสินค้า และส่งผลให้การขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือแหลมฉบังเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ
เรือตรี ทรงธรรม กล่าวว่าสำหรับโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง 20G ท่าเรือกรุงเทพ ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่บริเวณหน้าท่า Terminal 2 ฝั่งเขื่อนตะวันออก (ปากคลองพระโขนง) มีความยาว 250 เมตร พร้อมติดตั้งปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าชนิดเดินบนราง (RMG) จำนวน 2 คัน สามารถยกตู้สินค้าได้ 40 ตัน รองรับเรือขนส่งสินค้าชายฝั่ง (BARGE) ได้พร้อมกัน 3 ลำ ความยาวไม่เกิน 60 เมตร สามารถขนส่งตู้สินค้าได้ไม่น้อยกว่า 60 ที.อี.ยู./เที่ยว เป็นการยกระดับ การให้บริการสู่สากล สนับสนุนการให้บริการขนส่งสินค้าต่อเนื่องหลายรูปแบบ และเชื่อมโยงการขนส่งตู้สินค้าภายในประเทศเพื่อการส่งออกจากท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ไปยังท่าเรือต่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่เกี่ยวเนื่องเมื่อเปิดให้บริการท่าเทียบเรือชายฝั่ง 20G คือ โครงการบรรจุสินค้าในเขตท่าเรือกรุงเทพ เพื่อบรรทุกลงเรือชายฝั่ง (เฉพาะเขต) ไปท่าเรือแหลมฉบัง ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ โดยให้ท่าเรือกรุงเทพ เป็นท่าตรวจปล่อยของตู้สินค้าขาออก (Release Port) ซึ่งมีการตรวจสอบน้ำหนักมวลรวมตู้สินค้า (Verified Gross Mass : VGM) และตรวจสอบสถานะการตรวจปล่อยสินค้า (Green/Red Line) ผ่านระบบ e-Matching พร้อมทั้งมีการเอกซเรย์ (X-RAY) ตู้สินค้าจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ จึงทำให้สามารถตรวจปล่อยจากสำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพจุดเดียวเบ็ดเสร็จ โดยไม่ต้องผ่านพิธีการศุลกากรที่ท่าเรือแหลมฉบังอีก มีความปลอดภัยสูง ขนส่งสินค้าได้ตามเวลาที่กำหนด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งช่วยลดระยะเวลารอคอยท่า และลดเวลาปฏิบัติงานลง เนื่องจากมีพื้นที่กองเก็บตู้สินค้าติดท่าเทียบเรือ สามารถบริหารจัดการท่าเทียบเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการรองรับปริมาณตู้สินค้าและเรือชายฝั่งที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในระบบโลจิสติกส์ ลดขั้นตอนเอกสาร สามารถเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์แบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ ในส่วนของการบรรจุสินค้าท่าเรือกรุงเทพ มีคลังสินค้าเพื่อการบรรจุสินค้าขาออกโดยเฉพาะ มีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดด้วยระบบบันทึกภาพ CCTV ตลอด 24 ชั่วโมง เพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้บริการได้เป็นอย่างดี
โครงการฯ ดังกล่าว สามารถรองรับเรือชายฝั่งได้ประมาณปีละ 2,500 ลำ หรือคิดเป็นปริมาณตู้สินค้า 240,000 ที.อี.ยู./ปี เป็นการสนับสนุนการขนส่งทางน้ำภายในประเทศ ส่งเสริมระบบโลจิสติกส์ ลดปริมาณการจราจรทางบก และยกระดับการขนส่งสินค้าและตู้สินค้าระหว่างท่าเรือกรุงเทพกับท่าเรือแหลมฉบัง โดยสามารถเชื่อมโยงกับท่าเรือภายในลำน้ำเจ้าพระยา และท่าเรือชายฝั่งอื่นๆ ทั้งหมดนี้เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถด้านการส่งออกของประเทศ และยังเป็นการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการสนับสนุนการลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทย หรือ Ease of Doing Business
นายสุวัฒน์ อัศวทองกุล นายกสมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือ กรุงเทพฯ กล่าวว่า การขนส่งทางน้ำสามารถช่วยลดต้นทุนลงได้ประมาณ 30% เมื่อเทียบกับการขนส่งทางบก อีกทั้งช่วยลดปัญหาความแออัดที่บริเวณหน้าท่าเรือกรุงเทพ ที่เรือต้องรอท่าจากเดิม 1-2 วันลงได้ และยังจะลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาการจราจรและอุบัติเหตุลงได้ด้วย