Print

Round up คมนาคมปี’65 แผนลงทุน 4 มิติ 1.4 ล้านล้าน ดันจีดีพีเพิ่ม 2.35%

กระทรวงคมนาคมฉายภาพการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ทั้งระบบในปี 2565 มียอดลงทุนรวม 1.4 ล้านล้านบาท เป็นการลงทุน 4 มิติด้วยกันคือ “ถนน ราง น้ำ อากาศ”
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

 

โดย “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา “Thailand Future Smart & Sustainable Mobility ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน” จัดโดยกระทรวงคมนาคม ในหัวข้อ “โอกาสของประเทศไทยกับการได้ใช้ประโยชน์จากการพัฒนาโครงข่ายคมนาคม” เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565 ณ โรงแรมพูลแมน รางน้ำ

ลงทุนภาพรวม 4 มิติ

ทั้งนี้ สถานการณ์โควิด 2 ปี (2563-2564) ปฏิเสธไม่ได้ว่าการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะเมกะโปรเจ็กต์ด้านคมนาคมขนส่งเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวม

ในส่วนของกระทรวงคมนาคม มีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2558-2578) เป็นตัวกำกับ เป้าหมายลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยหลังยุคโควิด

“ผมเริ่มเห็นแสงสว่าง โรคระบาดมีทิศทางเป็นบวก กระทรวงเพิ่มความสะดวกการเดินทางและการใช้ชีวิต โครงการที่สามารถดำเนินการได้ก็เร่งทำต่อเนื่อง โครงการที่มีอุปสรรคปัญหาก็เร่งศึกษาข้อมูลเตรียมไว้เพื่อให้ทำได้ทันทีเมื่อมีความพร้อม”

การจัดระเบียบข้อมูลแผนลงทุนนำเสนอผ่านแผนลงทุนระยะกลางและระยะยาว เป็น 4 มิติด้วยกันคือ “ถนน ราง น้ำ อากาศ”

ครึ่งทางรถไฟฟ้าหลากสี

สีสันการลงทุนเริ่มต้นที่ “มิติระบบราง” ลูปใหญ่สุดเป็นโครงการรถไฟฟ้าหลากสีในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีตั้งเป้าลงทุนรวม 14 เส้นทาง ระยะทาง 554 กิโลเมตร โดยเปิดบริการแล้ว 7 สี 11 เส้นทาง ระยะทางรวม 212 กิโลเมตร คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 50% ของแผนแม่บท

รถไฟฟ้าที่เปิดบริการแล้ว 11 เส้นทาง ได้แก่ “สีน้ำเงิน” บางซื่อ-หัวลำโพง 20 กิโลเมตร, หัวลำโพง-บางแค 14 กิโลเมตร,บางซื่อ-ท่าพระ 13 กิโลเมตร (ดูกราฟิกประกอบ)

อยู่ระหว่างก่อสร้าง 4 สาย รวม 114 กิโลเมตร ได้แก่ “สีชมพู” แคราย-มีนบุรี/ศรีรัช-เมืองทองธานี 37.3 กิโลเมตร “สีเหลือง” ลาดพร้าว-สำโรง/แยกรัชดา-ลาดพร้าว-แยกรัชโยธิน 33 กิโลเมตร “สีส้ม” ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี 22.5 กิโลเมตร และ “แอร์พอร์ตเรลลิงก์” พญาไท-ดอนเมือง หรือรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน 21.8 กิโลเมตร ตามแผนทยอยเปิดบริการปี 2566-2571

โครงการเร่งดำเนินการ 4 สาย รวม 93 กิโลเมตร ประกอบด้วย “สีม่วง” เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ 23.6 กิโลเมตร “สีแดงอ่อน” บางซื่อ-หัวหมาก/ตลิ่งชัน-ศาลายา/ตลิ่งชัน-ศิริราช 40.64 กิโลเมตร “สีแดงเข้ม” บางซื่อ-หัวลำโพง/รังสิต-มธ.ศูนย์รังสิต 14.6 กิโลเมตร และ “สีส้มตะวันตก” บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ 13.4 กิโลเมตร รวมทั้งแผนอนาคตมีอีก 8 เส้นทาง รวม 134 กิโลเมตร

ประเด็นของระบบรางเป็นเรื่องเดียวกันกับ “Bangsue Grand Station-สถานีกลางบางซื่อ” เป้าหมายต้องการให้เป็นศูนย์กลางเดินทางระบบรางของประเทศไทย ทั้งรถไฟฟ้า รถไฟทางไกล รถไฟความเร็วสูง (รถไฟไทย-จีนกับรถไฟ 3 สนามบินเชื่อมอีอีซี) มุ่งสู่เป้าหมายที่ใหญ่กว่าในการเป็นศูนย์กลางคมนาคมระดับอาเซียน

ไฮไลต์ยังมีรถไฟฟ้า “สายสีน้ำเงิน บางซื่อ-ท่าพระ” ซึ่งเติมเต็มโครงข่ายรถไฟฟ้าในมหานครกรุงเทพที่วิ่งให้บริการในลักษณะเส้นทางวงกลมเพียงสายเดียวในขณะนี้

รุกคืบรถไฟทางคู่ 678 กม.

สำหรับ “รถไฟทางคู่” โครงการต่อเนื่องตามแผนลงทุนปี 2564-2565 ก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ 4 เส้นทาง รวม 568 กิโลเมตร ได้แก่ เส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ 148 กิโลเมตร, นครปฐม-หัวหิน 169 กิโลเมตร, หัวหิน-ประจวบฯ 84 กิโลเมตร และประจวบฯ-ชุมพร 167 กิโลเมตร

ทำให้ระบบทางคู่เพิ่มความยาวเป็น 1,111 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นการปฏิรูประบบรางทั้งประเทศไทย จากเดิมเป็นระบบ “รางเดียว” เพื่อขนส่งสินค้าทางราง ลดต้นทุนโลจิสติกส์ เชื่อมโยงทิศตะวันออกไปตะวันตก จากเหนือไปใต้

ปี 2565 เริ่มงานก่อสร้างสายใหม่ 2 เส้นทาง 678 กิโลเมตร ได้แก่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ 323 กิโลเมตรกับบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม 355 กิโลเมตร

มีอีก 7 โครงการที่เสนอขออนุมัติระยะที่ 2 รวม 1,483 กิโลเมตร ประกอบด้วย สายขอนแก่น-หนองคาย 167 กิโลเมตร, ชุมทางถนนจิระ-อุบลฯ 308 กิโลเมตร, ชุมพร-สุราษฎร์ฯ- 168 กิโลเมตร, สุราษฎร์ฯ-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา 321 กิโลเมตร, ปากน้ำโพ-เด่นชัย 285 กิโลเมตร, ชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ 45 กิโลเมตร และเด่นชัย-เชียงใหม่ 189 กิโลเมตร

นอนาคตหากทำครบทั้งหมด ประเทศไทยจะมีรถไฟทางคู่ความยาว 3,000 กิโลเมตร

 

โครงการต่อเนื่องยังรวมถึงพัฒนา “ท่าเรือบก-Dry Port” ซึ่งผลศึกษาเสร็จแล้ว คืบหน้าล่าสุด การท่าเรือฯ กำลังศึกษาต่อเพื่อเปิดประมูลรูปแบบร่วมทุน PPP โดยมองพื้นที่ศักยภาพจังหวัดใหญ่5 หัวเมืองหลัก “ขอนแก่น โคราช นครสวรรค์ ฉะเชิงเทรา สุราษฎร์ฯ”

ประคบประหงมไฮสปีดเทรน

เลี้ยวกลับมาดู “ไฮสปีดเทรน” ที่มี 2 เวอร์ชั่นหลัก 1.ไฮสปีดเทรนไทย-จีน ทางยาวคือกรุงเทพฯ-หนองคาย โดยปี 2564 เริ่มเฟส 1 ตัดตอนกรุงเทพฯ-โคราช 253 กิโลเมตร คืบหน้าล่าสุดเร่งก่อสร้างเสร็จ 1 สัญญา ลงนามงานโยธา 10 สัญญา คาดว่าเปิดบริการปี 2569 วงเงินลงทุน 1.7 แสนล้านบาท

สำหรับปี 2565 กำลังขออนุมัติเดินหน้าเฟส 2 โคราช-หนองคาย 356 กิโลเมตร ปัจจุบันรออนุมัติรายงานสิ่งแวดล้อม (EIA) ตั้งเป้ากลางปี 2565 นำเสนอเข้าที่ประชุม ครม. ตามแผนจะเปิดบริการปี 2571

2.ไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) 220 กิโลเมตร ปีที่แล้วมีการลงนามสัญญาร่วมทุนกับกลุ่มซีพี และรื้อย้ายสิ่งกีดขวางโครงการ โดยปี 2565 เตรียมส่งมอบพื้นที่และเริ่มงานก่อสร้างต่อไป โครงการนี้สนับสนุนการท่องเที่ยว การลงทุน เชื่อมต่อกับโซน EEC

3.แผนปี 2566 ผลักดันไฮสปีดเทรนเพิ่ม 2 เส้นทาง ได้แก่ สายกรุงเทพฯ-พิษณุโลก กับกรุงเทพฯ-หัวหิน-สุราษฎร์ฯ-ปาดังเบซาร์

บูมมอเตอร์เวย์-ทางด่วน

สำหรับ “ระบบถนน” พบว่าไทยมีโครงข่ายถนนเกือบ 9 แสนกิโลเมตร อยู่ในความดูแลของกระทรวงคมนาคมเกือบ 4 แสนกิโลเมตร หน่วยงานพระเอกคือ “กรมทางหลวง” มีโครงการต่อเนื่องจากรัฐบาลที่แล้ว อาทิ “มอเตอร์เวย์ M6 กรุงเทพฯ-โคราช” 196 กิโลเมตร ลงทุน 8 หมื่นกว่าล้านบาท ปี 2565 เร่งรัดให้แล้วเสร็จเพราะมีความก้าวหน้าก่อสร้าง 95% ตามแผนเปิดบริการปี 2566

 

อีกเส้น “M81 มอเตอร์เวย์ บางใหญ่-กาญจน์” 96 กิโลเมตร ลงทุน 6 หมื่นกว่าล้านบาท เรื่องใหม่จะมีการพัฒนา rest area ต่อไป จะเปิดบริการปี 2566

อีกหน่วยงาน “การทางพิเศษแห่งประเทศไทย” อยู่ระหว่างดำเนินการทางด่วน “พระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก” 18.7 กิโลเมตร วงเงิน 28,734 ล้านบาท

ทิศเหนือของกรุงเทพฯ วันนี้ดอนเมืองโทลล์เวย์ไปจ่อรังสิต มีแผนงานรอประมูล “M5 ส่วนต่อขยายโทลล์เวย์ รังสิต-บางปะอิน” 22 กิโลเมตร ลงทุน 28,700 ล้านบาท ปีนี้จะขออนุมัติ ครม.เปิดประมูล PPP ตามแผนเปิดใช้ปี 2569, “M9 วงแหวนตะวันตก บางขุนเทียน-บางบัวทอง” ยาว 36 กิโลเมตร เตรียมประมูล PPP เช่นกัน ตั้งเป้าเปิดบริการปี 2568

หากจบตามแผนจะทำให้มีถนนวงแหวนรอบกรุงเทพฯ สามารถวิ่งเส้นทางอ้อมเมืองรอบนอกได้โดยไม่ต้องฝ่าการจราจรเข้ามาในเมือง

เลยไปโซน EEC มีโครงการ “M7 ส่วนต่อขยายเชื่อมสนามบินอู่ตะเภา” เดิมสิ้นสุดที่มาบตาพุด กำลังทำโครงการต่อขยายไปอู่ตะเภา 1.92 กิโลเมตร วงเงิน 4,508 ล้านบาท เป้าเปิดบริการปี 2568

MR-Map เชื่อมแลนด์บริดจ์

โครงการที่เป็นเหมือนโลโก้ของ “รมว.ศักดิ์สยาม” ก็คือ MR-Map ซึ่งริเริ่มทำแผนแม่บทบูรณาการระบบรางกับถนนเข้าด้วยกัน โดยมีมติ ครม.ในปี 2564 รองรับเรียบร้อยแล้ว ในฐานะผู้กำหนดนโยบายมองว่า MR-Map ตามแผนแม่บทมี 10 เส้นทาง เชื่อมโยงโครงข่ายเป็นตารางหมากรุก ทะลุทะลวงไปถึงเชื่อมคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงเป็นเมกะโปรเจ็กต์ที่สำคัญ

ไพลอตโปรเจ็กต์ของ MR-Map คือ “แลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง” เชื่อม 2 ฝั่งทะเล อ่าวไทยกับอันดามัน พัฒนาท่าเรือน้ำลึกไม่ต่ำกว่า 15 เมตร ตอบโจทย์ลดเวลาเดินทาง-ลดค่าใช้จ่ายขนส่ง-พัฒนาพื้นที่หลังท่า อาทิ ศูนย์กระจายสินค้า คลังน้ำมัน อุตสาหกรรมต่อเนื่อง พื้นที่เชิงพาณิชย์/ออฟฟิศ/โรงแรม ซัพพลายเชน

แลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนองจะเป็นคู่แข่งกับการขนส่งทางเรือที่ใช้ช่องแคบมะละกาเป็นหลักในปัจจุบัน ซึ่งมีความสามารถรองรับเรือเดินทะเลปีละ 1.2 แสนลำ และใกล้เต็มคาพาซิตี้เพราะปัจจุบันมีเรือผ่านช่องแคบปีละ 8.5 หมื่นลำ แนวโน้ม 10 ปีหน้าความหนาแน่นไม่น่าจะรับไหว แลนด์บริดจ์ของไทยจึงตอบโจทย์เทรนด์ 10 ปีหน้า

ศักยภาพทางน้ำ นอกจากแลนด์บริดจ์แล้ว ต้องต่อจิ๊กซอว์ “สายการเดินเรือแห่งชาติ” ในอดีตเคยมี “บริษัทไทยเดินเรือทะเล-บทด.” หากมองแลนด์บริดจ์เป็นประตู การลงทุนเติมเต็มควรมีสายการเดินเรือแห่งชาติ แต่รูปแบบไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ วิธีการคือร่วมลงทุนเอกชนในประเทศ-ต่างประเทศ เพื่อให้มีการขนถ่ายสินค้าทางน้ำ

สุดท้าย “มิติทางอากาศ” โดย IATA-สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศคาดการณ์ในปี 2574 ไทยเป็นอันดับ 9 ที่คนทั่วโลกเดินทางมาเยี่ยมไม่น้อยกว่า 200 ล้านคน นำมาสู่การลงทุน 2 สนามบินหลัก “สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง”

บทสรุปปี 2565 กระทรวงคมนาคมมีการลงทุนโครงการสำคัญรวม 1.4 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นโครงการลงนามสัญญาแล้ว 5.16 แสนล้านบาท กับโครงการลงทุนใหม่ 9.74 แสนล้านบาท เกิดการจ้างงาน 1.54 แสนตำแหน่ง หมุนเงินในธุรกิจวัสดุก่อสร้าง 1.24 ล้านล้านบาท

 

คิดเป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 2.35% หรือ 4 แสนล้านบาท/ปี