Print

วิกฤตคลองสุเอซค่าระวางเรือพุ่ง ตู้สินค้าขาดส่งออกสะดุดซ้ำ

ที่มา : www.prachachat.net
วิกฤตคลองสุเอซ ป่วนเส้นทางขนส่งสินค้าไปยุโรป สภาผู้ส่งออก หวั่นส่งมอบสินค้าช้า-ค่าระวางเรือพุ่งจาก 4 พันทะลุ 5 พันเหรียญสหรัฐ/ตู้ ซ้ำเติมปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ อุตฯยานยนต์โอดกระทบส่งออกรถยนต์-รถจักรยานยนต์ ก.พลังงานประสานเสียงกลุ่มโรงกลั่น-ปตท.-ซัสโก้ ยันไม่กระทบการขนส่งก๊าซ LNG-LPG-น้ำมัน

กรณีเกิดเหตุพายุทรายพัดเรือสินค้าเอเวอร์กรีน เรือสินค้าบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ขนาดยาว 400 เมตร เสียหลักเกยตลิ่งขวางคลองสุเอซ ซึ่งเชื่อมทะเลแดงกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ในประเทศอียิปต์ เส้นทางการขนส่งทางเรือที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2564 อาจต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์กว่าจะกู้เรือได้สำเร็จ

 

ส่งผลกระทบทำให้เรือสินค้า เรือบรรทุกน้ำมัน และเรือบรรทุกก๊าซจำนวนกว่า 206 ลำ ต้องจอดรอบริเวณคลองสุเอซ ถือเป็นเหตุร้ายแรงที่สุดในรอบหลายปี กระทบการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเส้นทางเอเชีย-สหภาพยุโรป และเส้นทางตะวันออกกลาง-สหภาพยุโรป

พาณิชย์มั่นใจกระทบระยะสั้น

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาครัฐและเอกชนไทยติดตามสถานการณ์และเกาะติดความคืบหน้ากรณีดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นเส้นทางส่งออกสินค้าไทยไปตลาดยุโรป แต่เบื้องต้นคาดว่าผลกระทบจะเกิดขึ้นแค่ในระยะสั้น เมื่อมีการแก้ไขปัญหาย้ายเรือที่ขวางลำน้ำบริเวณคลองสุเอซได้จะทำให้การขนส่งกลับมาโดยเร็ว

ระหว่างนี้ผู้ส่งออกสินค้าที่ใช้เส้นทางเรือดังกล่าวอาจต้องปรับการขนส่งหรือเปลี่ยนเส้นทางการขนส่ง เพื่อให้สามารถส่งสินค้าไปได้ อาจมีต้นทุนเพิ่มขึ้นบ้าง แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบในระยะยาว

สำหรับภาพการส่งออกไปตลาดสหภาพยุโรป (15 ประเทศ) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีมูลค่า 1,800 ล้านเหรีญสหรัฐ กลับมาขยายตัว 0.2% เป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี ส่วนยอดส่งออกสะสม 2 เดือนแรกปี 2564 มีมูลค่า 3,537 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 2.7% ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง หม้อแปลงไฟฟ้า ยางพารา และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น

ห่วงส่งมอบช้า-ค่าระวางพุ่ง

นางสาวกัญญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท. หรือสภาผู้ส่งออก) เปิดเผยว่า ผู้ส่งออกกังวลว่าการกู้เรืออาจใช้เวลานานกว่าที่คาด หากเป็นเช่นนั้นการขนส่งทางเรือในเส้นทางดังกล่าวจะได้รับผลกระทบ เพราะเป็นเส้นทางระยะสั้นที่สุดที่ส่งไปตลาดยุโรป

แม้อาจปรับโดยอ้อมไปใช้เส้นทางแอฟริกาได้แต่จะใช้ระยะเวลานานขึ้น 15 วัน จากปกติผ่านคลองสุเอซใช้เวลา 26-30 วัน อาจเพิ่มเป็น 45 วัน

“หากจากนี้อีก 2 สัปดาห์ ปัญหาไม่ได้คลี่คลาย การจองรอบการส่งออก (booking) มีโอกาสที่ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันค่าระวางเรือเส้นทางยุโรป สำหรับตู้คอนเทนเนอร์ 20 ฟุต ราคา 4,000 เหรียญสหรัฐ เทียบกับเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมาค่าระวางอยู่ที่ 800 เหรียญสหรัฐ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากโควิด-19 จากกรณีนี้มีโอกาสค่าระวางจะปรับเพิ่มขึ้นอีก 1,000 เหรียญสหรัฐ เป็น 5,000 เหรียญสหรัฐต่อตู้ 20 ฟุต”

 

นอกจากนี้ปัญหาดังกล่าวยังส่งผลกระทบทำให้ระยะเวลาในการนำตู้คอนเทนเนอร์กลับมายังประเทศต้นทางยาวนานขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจดีขึ้น การส่งออก-นำเข้ามีมากขึ้น ความต้องการตู้คอนเทนเนอร์ก็มีมากขึ้น จะทำให้ค่าระวางมีโอกาสที่ปรับราคาเพิ่มขึ้นอีก ผู้ส่งออกต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ว่าจะมีวิธีการช่วยลดต้นทุนให้ผู้ส่งออกได้บ้าง

ยันไม่กระทบความมั่นคงพลังงาน

 

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผู้บริหารกระทรวงพลังงานและผู้ประกอบการในธุรกิจพลังงาน โรงกลั่นน้ำมัน รวมถึง ปตท. ได้ประเมินสถานการณ์ที่คลองสุเอซแล้ว มั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อพลังงานของประเทศไทยทั้งน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม (LPG) และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)

เพราะตอนนี้ผู้ประกอบการได้บริหารจัดการปรับรูตเส้นทางการขนส่งทางเรือไปใช้เส้นทางอื่น จากเดิมในอดีตขนส่งผ่านเส้นทางนี้ประมาณ 70% แต่ปัจจุบันลดลงต่ำกว่า 50% โดยเฉพาะ ปตท.ได้แจ้งว่ามีการไดเวอร์ซิไฟการนำเข้ามาจากแหล่งทางสหรัฐ และถ้ายังไม่สามารถกู้เรือได้ก็สามารถนำเข้าจากแหล่งอื่น ๆ ได้

“คาดว่าจะมีการกู้เรือได้ในเสาร์อาทิตย์นี้ ในส่วนของปริมาณสต๊อกที่มีอยู่ไม่ได้มีนัยยะสำคัญ เพราะมีการสต๊อกตามปริมาณที่กฎหมายกำหนด ยืนยันได้ว่าไม่กระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานของไทย ซึ่งถ้าจะห่วงเรื่องนี้ห่วงเรื่องก๊าซทางเมียนมามากกว่าที่มีสถานการณ์อยู่ตอนนี้”

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจากคอร์ปอเรชั่น เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า เหตุการณ์นี้ไม่กระทบต่อการขนส่งน้ำมันของบริษัท โดยเบื้องต้นทราบว่าสถานการณ์น่าจะสามารถกู้เรือได้และคลี่คลายในวันที่ 27 มี.ค.2564 ช่วงเย็น ถือว่าเป็นระยะสั้น ซึ่งจะไม่กระทบแผนแผนการขนส่งน้ำมันของบางจาก

 

ซึ่งเตรียมจะขนส่งผ่านเส้นทางดังกล่าวช่วงหลังสงกรานต์ เพื่อจะนำมาผลิตสำหรับใช้ในเดือนพฤษภาคม 2564 ทั้งนี้ ผู้ประกอบการมีการสต๊อกน้ำมันสำรองไว้ตามกฎหมายเพียงพอใช้ได้นาน 20 วัน และมีเส้นทางสำรองเช่นการขนส่งผ่านแหลมกรูฟ ซึ่งจะใช้ระยะเวลานานกว่าประมาณ 3 สัปดาห์ซึ่งผู้ประกอบการคงไม่ใช้เส้นทางนั้น

เช่นเดียวกับ นายพงศธร ฉัตรนะรัชต์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ SUSCO เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในส่วนของการขนส่งน้ำมันของไทยไม่กระทบ เพราะไม่ได้ขนส่งผ่านเส้นทางนี้มากเท่าใดนัก และขณะนี้อยู่ระหว่างการกู้เรือ คาดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายภายใน 2-3 วัน ซึ่งประชาชนไม่ต้องวิตกกังวลว่าจะมีปัญหาขาดแคลนน้ำมัน เพราะมีการสต๊อกน้ำมันเพียงพอใช้

“ส่วนเรื่องราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับลดลงเล็กน้อยก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์คลองสุเอซจากความกังวลเรื่องการกลับมาล็อกดาวน์สหภาพยุโรปอีกครั้ง ตอนนี้ปัจจัยเรื่องนี้มีผลต่อราคาน้ำมันเล็กน้อย”

 

ชี้อุตฯยานยนต์กระทบแน่

ด้าน นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การกู้เรือยิ่งล่าช้าเท่าไหร่จะยิ่งกระทบต่ออุตฯรถยนต์บ้านเรามากเท่านั้น โดยเฉพาะตลาดส่งออกทั้งรถยนต์และจักรยานยนต์ ขณะนี้กำลังตรวจสอบว่าจะต้องใช้ระยะเวลานานแค่ไหน เพื่อหาทางออกอื่น ๆ เพิ่มเติม

สำหรับตลาดส่งออกอุตสาหกรรมยานยนต์ช่วง 2 เดือนแรกของปี 2564 (ม.ค-ก.พ.) มียอดรวมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องยนต์และชิ้นส่วน 147,185.10 ล้านบาท โตขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 13.85%
ซ้ำเติมปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาด

นายสุวิทย์ รัตนจินดา ประธานสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นถือเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ เท่าที่สอบถามสายการเดินเรือ คาดว่าจะมีเรือจากยุโรปที่จะเข้าท่าเรือแหลมฉบังได้รับผลกระทบประมาณ 10%

 

พิจารณาตัวเลขตู้คอนเทนเนอร์ที่เข้าท่าเรือแหลมฉบังในเดือนมกราคม 2564 ส่งออกประมาณ 3 แสนตู้ หากคิด 10% ที่ไปยุโรปประมาณ 30,000 ตู้ ส่วนขาเข้ามี 2 แสนตู้ หากคิด 10% เฉพาะที่แหลมฉบังตู้คอนเทนเนอร์นำเข้าส่งออก 20,000 ตู้จะล่าช้า กระทบเป็นห่วงโซ่ทั้งระบบ ถึงโรงงานผลิตสินค้าต่าง ๆ ด้วย เพราะวัตถุดิบที่จะมาใช้ผลิตก็มาไม่ได้ ส่วนสินค้าเร่งด่วนเท่าที่ทราบอาจจะต้องทางเครื่องบิน ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งและค่านำเข้าสูงขึ้นไปอีก