Print

จุดพลุ “Dry Port” ปลุกลงทุน EEC 3 แสนล้าน

การพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) เพื่อเป็นหนึ่งในตัวชูโรง ปลุกการลงทุน หลังวิกฤตโควิด-19 ถล่มทำให้ภาพรวมการขอรับส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ปี 2563 มีจำนวน 453 โครงการ มูลค่าลงทุน 208,720 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 382,140 ล้านบาท จากเป้าหมายที่วางไว้ 300,000 ล้านบาท

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2564 คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) ศึกษาการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทย กับบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เริ่มทำการศึกษาแนวทางการลงทุน รูปแบบการให้บริการขนส่ง ในเขตพื้นที่ Amata Smart & Eco City ที่ตั้งอยู่ใน สปป.ลาวไปยังท่าเรือแหลมฉบัง

 
ความร่วมมือดังกล่าวจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ค. 2564 หากการเชื่อมโยงสำเร็จตามแผนการก่อสร้าง 3 ปี รูปแบบการลงทุนก่อสร้าง “Dry Port PPP” จะทำให้ปริมาณสินค้าเข้าท่าเรือแหลมฉบังได้ 2 ล้านตู้สินค้า/ปี

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือเลขาฯ EEC) กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ. หรือบอร์ด EEC ชุดเล็ก) ซึ่งมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ว่า ที่ประชุมได้รับทราบแผนการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) แหลมฉบัง จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 เพื่อใช้เป็นโครงข่ายเชื่อมโยงระบบขนส่งและโลจิสติกส์สินค้าจากประเทศจีน (คุนหมิง) สปป.ลาว (นาเตย) และท่าเรือแหลมฉบัง ส่งผลให้ท่าเรือแหลมฉบังก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านระบบโลจิสติกส์กับนานาชาติ

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ใกล้จะได้ผลสรุปเร็ว ๆ นี้ ขณะที่แผนส่วนอื่นในการพัฒนาจะต้องเดินคู่กันไปด้วยเช่นกัน นอกจากท่าเรือบก Dry Port แล้ว ยังมีโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) จัดทำระบบห้องเย็น 4,000 ตัน ร่วมกับ ปตท. และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย การเร่งฝึกอบรมสร้างบุคลากร 91,846 คนตามแผนปี 2565

 

ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ไฮสปีด) ได้รื้อย้ายสาธารณูปโภคเพื่อเปิดพื้นที่ก่อสร้าง และจะส่งมอบพื้นที่ส่วนใหญ่ได้ภายใน มี.ค. 2564 ส่วนการส่งมอบพื้นที่เวนคืน อยู่ในขั้นตอนการทำสัญญาซื้อขายโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมส่งมอบพื้นที่อย่างช้าภายในเดือน ก.ย. 2564

 

“ปีนี้ตั้งเป้าการลงทุน 300,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50% จากปีที่แล้ว ล่าสุดมียอดขอรับการส่งเสริมปีนี้ อนุมัติคำขอแล้ว 292 โครงการ ออกบัตรส่งเสริมแล้ว 172 โครงการ และได้เริ่มโครงการแล้ว 79 โครงการ”

 

 

“การดึงการลงทุนปีนี้เราจะใช้เชิงรุก โดยเฉพาะกลุ่ม S-curve ใช้ทุกหน่วยงานทั้ง BOI, EEC อะไรที่ติดจะแก้ทั้งสิทธิประโยชน์ที่จำเป็นเพื่อการแข่งขันดึงดูด หรือเรื่องการเดินทางเข้ามา เราจะคุยกันผลักดันเกณฑ์ที่รับได้เพื่อรองรับทุนที่จะเคลื่อนย้ายมายังภูมิภาคนี้ พร้อมทั้งสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ไทยคือพื้นที่เป้าหมายหนึ่งของนักลงทุนต่างชาติ”