Print

ตู้เรือขาดลากยาวถึงตรุษจีน เอกชนหวั่นฉุดส่งออกไตรมาส 1

การส่งออกโค้งสุดท้ายของไทยเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียทั้ง 12 ประเทศ มาอยู่อันดับ 6 หดตัว 6.9% จากเดิมที่ส่งออกอยู่ที่อันดับ 3 โดยหากพิจารณาจะพบว่าภาพรวมการส่งออกของไทยหดตัวลงไปในทิศทางเดียวกับ 9 ประเทศ แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่ามี 3 ประเทศที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น คือ เวียดนาม ไต้หวัน และจีน (ตามกราฟิก)
ที่มา : https://www.prachachat.net

ส่งออก

ส่งออกเดือน พ.ย.ผงกหัวขึ้น

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยตัวเลขการส่งออกของไทยเดือนพฤศจิกายน 2563 มีมูลค่า 18,932.66 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 3.65% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นการหดตัวน้อยกว่าเดือนที่ผ่านมา ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 18,880.07 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 0.99% ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า 52.59 ล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจัยสำคัญมาจากเศรษฐกิจโลกมีทิศทางการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง การส่งออกในหลายกลุ่มสินค้าดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลก (Global Manufacturing PMI) ที่ปรับตัวดีขึ้นเหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และทำสถิติสูงสุดในรอบ 24 เดือน

สอดคล้องกับหลายองค์กรระหว่างประเทศที่ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกในทิศทางที่ดีขึ้น อีกทั้งประเทศต่าง ๆ มีการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

สำหรับภาพรวมการส่งออกในช่วง 11 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ย.) ปี 2563 การส่งออกมีมูลค่า 211,385.69 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 6.92% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 187,872.73 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 13.74% ส่งผลให้ 11 เดือนแรกของปี 2563 ไทยเกินดุลการค้า 23,512.96 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

ดังนั้น หากในเดือนสุดท้ายไทยสามารถรักษาระดับการส่งออกให้ได้ถึง 18,500 ล้านเหรียญสหรัฐ จะทำให้การส่งออกไทยทั้งปีหดตัว 6.6% แต่หากสามารถผลักดันการส่งออกขยับไปถึง 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งปียอดส่งออกจะหดตัว 6.45% ต่ำกว่าคาดการณ์ที่วางไว้ว่าจะหดตัว 7%

ส่องสินค้า-ตลาดส่งออกสำคัญ

หากเปิดไส้ในการส่งออกกลุ่มสินค้าเกษตร มีสินค้าที่ส่งออกหดตัว อาทิ น้ำตาลทราย หดตัว 74.1% อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป หดตัว 10.4% เครื่องดื่ม หดตัว 8.7% ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป หดตัว 6.6% ส่วนสินค้าเกษตรที่ขยายตัว เช่น ยางพารา ขยายตัว 32.5% อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัว 23.6% เป็นต้น

ในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม หดตัว 6.6% โดยสินค้าที่ส่งออกหดตัว เช่น ทองคำ หดตัว 42.7% สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัว 11.4% เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัว 7.4% อัญมณี และเครื่องประดับไม่รวมทองคำหดตัว 28.4% ส่วนสินค้าที่ส่งออกขยายตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัว 13.3% เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ขยายตัว 41.3% โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบขยายตัว 35.5% เฟอร์นิเจอร์ ขยายตัว 10.8% เป็นต้น

สรุปได้ว่าสินค้าที่ยังส่งออกได้ดีเป็นสินค้ากลุ่มเดิม หมวดสินค้าอาหาร สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (work from home) และสินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ รวมถึงถุงมือยางที่มีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา ตลาดส่งออกสำคัญ คือ สหรัฐ และออสเตรเลีย ยังคงขยายตัว ขณะที่ตลาดที่กลับมาเป็นบวกอีกครั้ง คือ ตลาดญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และมาเลเซีย ส่วนตลาดอาเซียน 5 ประเทศ และตะวันออกกลาง เป็นตลาดที่ยังได้รับผลกระทบจากการกลับมาแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ส่งออกเป็นบวกปี’64

สำหรับแนวโน้มการส่งออกไทยปี 2564 จากที่ สนค.ได้หารือกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ คาดว่าจะมีการขยายตัว 4% จากปี 2563 แต่จะกลับมาดีขึ้นหลังจากผ่านไตรมาส 1 ไปแล้ว โดยประเมินจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางดีขึ้น จาก “วัคซีนโควิด-19” ที่จะเข้ามาเป็นตัวเร่ง ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นทั่วโลก

ทั้งยังมีมาตรการแต่ละประเทศที่ยังคงทยอยกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็เชื่อว่าจะไม่มีการ “ล็อกดาวน์” ทั้งประเทศอีก

อย่างไรก็ตาม ไทยต้องฝ่าฟันปัจจัยเสี่ยงทั้งเรื่องปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ราคาน้ำมัน ปัญหาโควิด-19 รวมถึงทิศทางนโยบายประธานาธิบดี โจ ไบเดน ว่าจะกระทบต่อทิศทางการส่งออกไทยปีหน้า รวมถึงเรื่องการทบทวนโครงการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP)

แน่นอนว่าเพื่อเร่งการส่งออกโค้งสุดท้ายและต้นปี 2564 ประเทศไทยต้องเร่งเครื่องผลักดันการส่งออกให้เต็มที่ ส่วนปัจจัยที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจคือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศที่ช่วยเพิ่มกำลังซื้อของคู่ค้าความคืบหน้าในการผลิตและกระจายวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทั้งในภาคการผลิตและการบริโภค และจากการที่ส่งออกไทยหดตัวลงมามาก

เนื่องจากหลายประเทศก็ผลักดันสินค้าขั้นกลาง ซึ่งมีความต้องการนำเข้ามากขึ้นทำให้ประเทศในกลุ่มเอเชียผลักดันการส่งออก โดยประเทศไทยต้องเร่งเครื่องสร้างโอกาสและแต้มต่อในการผลักดันการส่งออก

เอกชนชี้ 3 ปมกระทบส่งออก

 

มุมมองของ นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เห็นพ้องกันว่า แนวโน้มการส่งออกปี 2564 จะกลับมาเป็นบวก 3-4% หลังจากผ่านพ้นไตรมาส 1 ไปแล้วจะค่อย ๆ เริ่มฟื้นตัว

โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการแพร่ระบาดของโควิดกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งแม้ว่าจะเริ่มอ่อนตัวเล็กน้อยหลังจากข่าวกระแสการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทย แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับคู่แข่ง

ที่สำคัญคือ ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน (ชอร์ต) ไทยยังไม่สามารถแก้ไขได้ แม้ว่าทางรองนายกรัฐมนตรี และ รมต.พาณิชย์ จะมีการเพิ่มมาตรการให้มีการนำเข้าตู้ และให้ซ่อมตู้เก่าเพื่อมาให้บริการก็ตาม

แต่คำถามคือ เราจะแย่งนำเข้าตู้จากเวียดนามและจีนได้อย่างไร เพราะ 2 ประเทศนั้นมีนโยบายที่จะใช้การส่งออกพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ยอมจ่ายค่าระวางที่สูงขึ้นกว่าเรา โดยจะเห็นว่ายอดส่งออก 11 เดือนของเวียดนามและจีนเป็นบวก นั่นก็เพราะเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ที่ไปกระจุกที่เวียดนาม และจีน

“ตอนนี้ผู้ส่งออกมีสินค้า มีออร์เดอร์มีตลาด แต่ไม่มีตู้ การแย่งตู้นั้นทำได้ยาก แม้ว่าเราจะยอมจ่ายค่าระวางแพงขึ้นเทียบเท่ากับจีนและเวียดนาม แต่การตัดสินใจว่าจะกระจายตู้ไปไว้ที่ไหนเป็นอำนาจของบริษัทสายการเดินเรือต่างชาติ เขาจะเลือกไปไว้ที่ไหน”

 

“แต่ละปีจีนเป็นผู้ใช้ตู้คอนเทนเนอร์มากที่สุด 200 ล้านตู้ เวียดนาม 13 ล้านตู้ ส่วนไทยใช้ 10 ล้านตู้ ตอนนี้เราต้องรอจีน เขาเร่งส่งออกก่อนตรุษจีนจากนั้นจะหยุดตรุษจีน 1 เดือน หยุดใช้ตู้คอนเทนเนอร์ นั่นจะเป็นจังหวะการส่งออกของไทยที่จะกลับมาดีขึ้น”