Print

นำเข้า “ตู้เปล่า” กู้ส่งออก “จุรินทร์” ขู่ใช้ กม.คุมราคา-แข่งขัน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานนำคณะตรวจเยี่ยมท่าเรือคลองเตย กรุงเทพฯ และประชุมร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าภายใน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้าและอัตราค่าระวางเรือที่สูงขึ้น เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา

ที่มา : prachachat.net

ขาดแคลนตู้ปัญหาเรื้อรัง 4 ปี

จากที่ได้รับรายงานว่าปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาเกิดจากค่าระวางการขนส่งทางทะเลต่ำทำให้สายเรือหลายบริษัทได้ปิดตัวลงและมีการควบรวมกิจการ

อีกทั้งจากปัญหาสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงต้นปีส่งผลกระทบต่อสายเรือ เพราะหลายประเทศชะลอหรือเลิกการนำเข้าส่งออกชั่วคราว มีตู้สินค้าชะงักอยู่ที่จีนจำนวนมาก จากการเข้มงวดตรวจสอบสินค้า และติดค้างอยู่ที่สหรัฐจากโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถขนส่งสินค้าได้ ระยะเวลาหมุนเวียนของตู้สินค้าไปสหรัฐเพิ่มจาก 7 วัน เป็น 14 วัน

ส่งออกสินค้าช่วงปีใหม่สะดุด

ซึ่งที่ประชุมประเมินว่า แนวโน้มในช่วงเทศกาลคริสต์มาส ปีใหม่ ไปจนถึงตรุษจีน มีความต้องการตู้สินค้ามากขึ้นเพื่อใช้ในการขนส่งสินค้าไปสหรัฐและยุโรป จากปัจจุบันไทยมีความต้องการตู้สำหรับการส่งออกประมาณ 5,000,000 ตู้ต่อปี และนำเข้า 3,500,000 ตู้ต่อปี จึงขาดอยู่ 1,500,000 ตู้

จุรินทร์เคาะ 6 มาตรการ

เป้าหมายในการลงทุนพื้นที่ครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์มุ่งเร่งแก้ไขปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้สำหรับบรรจุสินค้าส่งออกไปยังต่างประเทศขาดแคลน และค่าบริการในประเทศ จากกระบวนการนำเข้าและส่งออก (ค่าระวางเรือที่เพิ่มขึ้น) และปัญหาการจองพื้นที่เรือเพื่อบรรจุตู้สำหรับส่งออกและปัญหาการจองตู้

ซึ่งภายหลังการหารือมีความเห็นตรงกันใน 6 มาตรการที่จะแก้ไขปัญหานี้ประกอบด้วย

 

1.กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาลู่ทางในการเร่งนำตู้เปล่าเข้ามาให้พอกับการใช้บรรจุสินค้าส่งออก

 

2.เอาตู้เก่ามาซ่อมแซมในประเทศเพื่อใช้บรรจุสินค้าเพื่อการส่งออก โดยให้ความช่วยเหลือให้นำเข้าตู้เปล่าและตู้เก่าให้สะดวกรวดเร็ว

 

3.หาทางเพิ่มช่องทางการส่งออก โดยไม่ใช้ตู้ เช่น ใช้เรือสินค้าทั่วไป เป็นต้น

 

4.สนับสนุนช่วยเหลือ SMEs ซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายย่อยให้รวมตัวกันจองตู้ล่วงหน้าผ่านสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ

 

5.เร่งดำเนินการหาลู่ทางให้เรือที่มีขนาด 400 เมตร สามารถเข้าท่าที่แหลมฉบังได้ แทนที่จะอนุญาตเฉพาะเรือ 300 เมตรในปัจจุบัน เพื่อให้การส่งออกการนำเข้าสามารถบรรทุกสินค้าได้มากขึ้น

 

 

และ 6.ให้หามาตรการในการลดต้นทุนการนำเข้าตู้

 

คุมค่าบริการ-จำกัดการแข่งขัน

ส่วนประเด็นเรื่องของค่าบริการในประเทศ (local charge) ได้ตกลงว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนจะหาแนวทางลดค่าบริการในประเทศ โดยปัจจุบันตู้ขนาด 20 ฟุต มีค่าบริการที่ประมาณ 1,800 บาทต่อตู้ เพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก และหลังจากมีการนำเข้าตู้เปล่าหรือตู้เก่าเข้ามาเพิ่มมากขึ้นจะช่วยให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตนี้ในระยะเวลา 6 เดือนจากนี้ไปถึงเดือนมิถุนายน 2564 นี้ได้

 

 

“ส่วนการคิดค่าบริการที่สร้างภาระเกินสมควร ได้มอบหมายให้กรมการค้าภายในติดตามดูแลโดยอาศัยกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการเข้ามากำกับ แต่จะต้องหารือพูดคุยหาทางออกร่วมกันก่อนว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น เพราะมองว่าการใช้กฎหมายมีขั้นตอนและต้องใช้เวลา”

 

และปัญหาเรื่องการผูกขาด เช่น การจองพื้นที่ตู้หรือการจองตู้ที่บางครั้งถูกผู้ให้บริการบอกเลื่อนหรือถูกยกเลิก ทำให้เป็นปัญหาต่อผู้ส่งออกนั้น ได้ขอให้สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) เข้ามาดูแลรับข้อร้องเรียนจากภาคเอกชนที่ประสบปัญหา หากมีหลักฐานพร้อม จะดำเนินการพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วัน เป้าหมายเพื่อให้เกิดการค้าที่เป็นธรรมต่อไป