Print

TDRI หวั่นไทยแพ้เวียดนาม เก็บภาษีได้แต่ไม่พัฒนา

ทีดีอาร์ไอห่วงขีดความสามารถแข่งขันไทยพ่ายเวียดนาม เก็บภาษีได้แต่ไม่พัฒนา การเจรจาความตกลงการค้าหืดจับ “CPTPP” ไม่มีสหรัฐตลาดแคบ ส่วน RCEP ใช้เวลาลดภาษีนานกว่า 20 ปี จี้รัฐเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจดิจิทัลลดต้นทุนการทำธุรกรรม 2%

ที่มา : www.prachachat.net

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวระหว่างสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 38 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ปัญหาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับเวียดนาม จากปัญหาการคอร์รัปชั่น กฎหมายและกฎระเบียบ

รวมถึงระบบราชการที่ไม่เอื้ออำนวย ทั้งที่ไทยสามารถเก็บภาษีได้เพียงพอแต่การพัฒนาประเทศกลับไม่ได้เพิ่มขึ้น ขณะที่เวียดนามมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นสูงกว่าไทยอย่างต่อเนื่อง

 

ขณะที่ประเด็นการค้าและการลงทุนที่ต้องจับตาอย่างมากในปี 2564 คือ การเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ที่ไทยยังไม่ได้ร่วมและสหรัฐอาจจะไม่ได้เข้าร่วม เพราะจากการที่พรรคเดโมแครตที่มีเสียงข้างมากไม่ได้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งอาจทำให้นโยบายด้านเศรษฐกิจหลักหลาย ๆ ด้าน รวมถึง CPTPP ของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนใหม่ไม่ผ่านรัฐสภา ผลคือการเปิดเสรีการค้าและบริการอาจจะไม่มากนัก

ขณะที่การใช้ประโยชน์ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่ไทยและสมาชิกที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ทั้งจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เข้าร่วมกัน 15 ประเทศ ก็ต้องใช้เวลาถึง 20 ปีในการลดภาษี ทำให้ไทยยังต้องใช้ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับประเทศสมาชิก (ASEAN+1) ไปก่อน

“ข้อเสนอที่ทีดีอาร์ไอต้องการผลักดันไทยเข้าสู่รัฐบาลดิจิทัล เพื่อให้การบริการภาครัฐสะดวกมากขึ้นเช่นเดียวกับประเทศเอสโตเนียที่มีระบบรัฐบาลดิจิทัลแล้ว ทำให้การทำธุรกรรมต่าง ๆ สะดวกรวดเร็ว สามารถใช้เพียงบัตรประชาชนใบเดียวซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ การจดทะเบียนสมรสหรือการหย่า ซึ่งช่วยให้รัฐสามารถลดต้นทุนได้ถึง 2% ต่อปี”

อย่างไรก็ตาม ได้มีการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2564 ว่าจะขยายตัว 5.2% จากปีนี้ที่คาดว่าจะติดลบ 4.4% จากปัญหาของโควิด-19 ซึ่งกลายเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจของทั่วโลก ที่ล้วนต้องยอมลงทุนเพื่อรักษาสุขภาพ รักษาชีวิต เช่น เยอรมนี สิงคโปร์ ญี่ปุ่น แต่ก็มีบางประเทศยอมให้เกิดการระบาด เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ เช่น สหรัฐ สวีเดน

ที่ผ่านมารัฐบาลทุ่มงบประมาณ 10% ของจีดีพี ป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตน้อย และเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็ว ทำให้เห็นถึงศักยภาพด้านสาธารณสุขของประเทศไทยดีมาก

 

“การพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 จะเข้ามาช่วงกลางปี 2564 และกระจายให้ผู้มีความเสี่ยง เช่น แพทย์ ผู้ป่วย ผู้สูงอายุก่อน ตามกลไกตลาด ซึ่งจะมีการจองวัคซีน ผู้ที่มีกำลังซื้อเริ่มจองวัคซีนปัจจุบันกว่า 1 พันล้านโดสแล้ว ค่อย ๆ กระจายไปแต่ละภูมิภาค นี่อาจเป็นช่องทางให้ธุรกิจซื้อวัคซีนไปฉีดให้นักท่องเที่ยว ซึ่งที่ประเทศไทยก็คงต้องทยอยเช่นกัน และไทยอาจเป็นฐานในการผลิตด้วย”