Print

ตู้เรือขาดทำค่าระวางพุ่งพรวด กองอยู่จีน-เวียดนามส่งออกข้าวมะลิอ่วม

ส่งออกโค้งสุดท้ายอ่วม เอกชนไทยแย่งตู้สินค้า “จีน-เวียดนาม” หลังยอดส่งออกสหรัฐกระฉูด ดันค่าระวางพุ่ง 100% ร้อนถึง “พาณิชย์” บี้สายเรือแจงข้อมูล ขอความร่วมมือตรึงราคาค่าระวางเดินเรือ-ค่าธรรมเนียม ขู่พร้อมออกมาตรการทางกฎหมายสร้างความเป็นธรรม

ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-559711

นางสาวกัญญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า สมาชิกผู้ส่งออกหลายรายร้องเรียนมายัง สรท.ถึงปัญหาค่าระวางเรือที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งสายเดินเรือที่ไปสหรัฐ โดยปรับขึ้นมากว่า 3 เท่า

 

โดยตู้ขนาด 20 ฟุต จากราคาเฉลี่ย 1,000-2,000 เหรียญสหรัฐ ปรับขึ้นเป็น 4,000-5,000 เหรียญสหรัฐ และสายเดินเรือไปยุโรป จากค่าระวาง 700-800 เหรียญสหรัฐ ปรับขึ้นไปที่ 1,000-2,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งขึ้นอยู่กับประเทศที่นำเข้า นอกจากนี้ยังพบว่าค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บบริเวณท่าเรือ ทั้งค่าบริการ ค่ายกตู้ ค่าเอกสาร ปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10% เป็นภาระค่าใช้จ่ายของผู้ส่งออกที่เพิ่มขึ้น

ล่าสุด สรท.ได้ทำเรื่องถึงกระทรวงพาณิชย์ และได้เข้าไปประชุมร่วมกับกรมการค้าภายใน โดยผู้ประกอบการ สายเดินเรือชี้แจงว่า ขณะนี้การส่งออกสินค้าของประเทศจีน เวียดนาม รวมถึงไทยไปตลาดสหรัฐ และยุโรปเพิ่มมากขึ้นทำให้มีความต้องการตู้ขนส่งสินค้ามากขึ้น ตู้ขนส่งสินค้าจึงถูกส่งไปที่ค้างอยู่ที่จีน และเวียดนามมากขึ้นแล้ว ทำให้ตู้ขนส่งสินค้าหมุนเวียนกลับมาที่น้อยลง เป็นเหตุให้ขาดแคลนและมีค่าระวางเพิ่ม

ซึ่งกลุ่มผู้ส่งออกอาหาร ทูน่า เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีมูลค่าสินค้าไม่สูงมาก ใช้ระบบโลจิสติกส์ทางเรือเป็นหลักจะกระทบมาก โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 4 ของทุกปี ถือเป็นช่วงที่การส่งออกของประเทศมีการขยายตัวมากที่สุด เรื่องนี้เป็นประเด็นที่กระทบต่อต้นทุนผู้ส่งออกซึ่งเดิมเจอปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าอยู่แล้ว ยิ่งส่งผลต่อรายได้และศักยภาพของการแข่งขัน

อีกทั้งผู้ส่งออกหลายรายสั่งจองตู้ขนส่งสินค้า ค่าบริการต่าง ๆ ล่วงหน้า ทำให้สายเดินเรือให้บริการเต็มตั้งแต่ปลายปี 2563 ถึงต้นปี 2564 อย่างไรก็ตามสายเดินเรือก็พร้อมให้ความร่วมมือนำตู้ขนส่งสินค้าเข้ามาประเทศไทยให้มากขึ้น และคงอัตราค่าบริการไว้เท่าเดิม

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม รองอธิบดีกรมการค้าภายใน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 กรมการค้าภายในเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ให้บริการและใช้บริการสายเดินเรือ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

รวมไปถึงตัวแทนจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ร่วมหารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนและการปรับค่าระวางเรือ ตู้ขนส่งสินค้าและค่าใช้จ่ายที่เรือเรียกเก็บ ณ ประเทศนั้น ๆ (local charge) ตามที่สภาผู้ส่งออกได้เสนอเรื่องเข้ามา

“ที่ประชุมมีมติเบื้องต้น ให้ขอความร่วมมือให้สายเรือคงอัตราค่าใช้จ่ายค่า local charge ทั้งส่วนของการส่งออก และนำเข้า และคงอัตราค่าระวางเรือในอัตราเดิมก่อน ซึ่งผู้ประกอบการสายเดินเรือพร้อมให้ความร่วมมือคงอัตราค่าบริการเท่าเดิม

ส่วนปัญหาตู้ขนส่งสินค้าที่ขาดแคลน สายเดินเรือร่วมกันพร้อมให้ความร่วมมือพยายามนำตู้ขนส่งสินค้าเข้ามาประเทศไทยให้มากที่สุด เพราะตู้ส่วนใหญ่ยังติดอยู่ที่ประเทศที่นำเข้า กรมเห็นว่าหากทุกฝ่ายร่วมมือช่วยเหลือกันประโยชน์ก็จะกลับเข้าสู่ประเทศไทย”

พร้อมกันนี้ ได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการสายเดินเรือส่งข้อมูลค่าบริการ local charge มาที่กรมให้ได้โดยเร็วที่สุด ว่าได้มีปรับขึ้นสมเหตุสมผลหรือไม่ ซึ่งกรมจะนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลพิจารณาค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น มีความเป็นธรรมหรือไม่

หากพบว่าการคิดค่าใช้จ่ายไม่สมเหตุสมผล กรมจะเชิญผู้ให้บริการ หรือสายเดินเรือมาชี้แจงอีกครั้งก่อนที่จะพิจารณาว่าจำเป็นต้องอาศัยอำนาจกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ปี 2542 เข้ามาดูแลหรือไม่ ทั้งนี้ การใช้กฎหมายต้องดูปัจจัยต่าง ๆ ที่กระทบรอบด้านด้วย

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ส่งออกข้าวโดยเฉพาะการส่งออกข้าวหอมมะลิที่อาศัยการส่งออกโดยใช้ทางเรือและใช้ตู้ขนส่งสินค้าเพื่อการส่งออกไปตลาดสหรัฐ ยุโรป และจีนเป็นหลัก ได้รับผลกระทบจากปัญหาค่าระวางเรือที่ปรับเพิ่มขึ้น เช่น สหรัฐ จากเดิมค่าระวางเรืออยู่ที่ 2,500 เหรียญสหรัฐต่อตู้ 20 ฟุต ปรับมาอยู่ที่ 5,000 เหรียญสหรัฐต่อตู้ 20 ฟุต ส่วนเส้นทางเดินเรือไปจีน จากเดิม 250 เหรียญสหรัฐต่อตู้ 20 ฟุต มาอยู่ที่ 400 เหรียญสหรัฐต่อตู้ 20 ฟุต

และที่สำคัญจำนวนตู้ขนส่งสินค้ายังมีไม่เพียงพอ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวหอมมะลิซึ่งจะเป็นชนิดที่ใช้ตู้ส่งออกเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 150,000 ตัน ส่วนชนิดอื่นจะใช้เรือขนส่งเป็นแบบบัลก์ ทั้งนี้คาดว่าจากปัญหาที่เกิดขึ้นจะทำให้ปริมาณการส่งออกลดลง 30% จากที่คาดว่าการส่งออกข้าวในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี จะส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 600,000 ตัน

“ต้องยอมรับว่าข้าวเป็นสินค้าส่งออกที่มีน้ำหนักเยอะหากเปรียบเทียบกับสินค้าอื่น ผู้ประกอบการเดินเรือปฏิเสธการขนส่งสินค้าข้าว โดยเลือกสินค้าชนิดอื่นแทน และบางครั้งพบว่าไม่มีพื้นที่ว่างที่พอจะขนส่งค้าข้าวออกไป ประกอบกับปริมาณเรือขนส่งสินค้ามีจำนวนลดลงไปกว่า 20%

ปัญหาตู้ไม่เพียงพอ เกิดจากเวียดนาม อินเดีย เศรษฐกิจดีจึงมีการนำเข้าสินค้ามาก ทำให้ตู้เรือขนส่งสินค้าไปค้างที่นั่นปริมาณมากขึ้น กระทบต่อศักยภาพการส่งออกไทยลง แม้ราคาข้าวหอมมะลิของไทยตอนนี้จะลดลงมาอยู่ที่ 850 เหรียญสหรัฐ จากเดิมที่เคยมีราคา 1,000 เหรียญสหรัฐ และยังมาประสบปัญหานี้อีก ทำให้แข่งขันลำบาก”