Print

TDRI จี้รื้อ-โละกฎหมายล้าหลัง ฟื้นเศรษฐกิจ ลดต้นทุนธุรกิจ 1.3 แสนล้าน

เศรษฐกิจไทยปี 2563 มีแนวโน้มจะหดตัวอย่างรุนแรง 8% จากสถานการณ์เศรษฐกิจ และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบเครื่องยนต์หลักของประเทศ โดยเฉพาะรายได้จากการท่องเที่ยวที่ยังฟุบไม่ฟื้นตัว แม้ภาครัฐจะผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ต่อเนื่อง ขณะที่รายได้ภาคส่งออกก็ได้รับแรงสั่นสะเทือนจากเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา ลงทุนยังคงนิ่ง

ที่มา : www.prachachat.net/economy/news-539699

ส่วนหนึ่งมาจากนักลงทุนต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ เหลือเพียงการลงทุนภาครัฐและการบริโภคภายในประเทศเป็นตัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภาคเอกชนจึงต้องพยายามรัดเข็มขัด ประคองตัวให้อยู่รอดได้ การเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณายกเลิก และทบทวนกฎหมายที่เป็นอุปสรรค และล้าหลัง คือหนึ่งในความพยายามลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจรับยุค new normal

ลงขันศึกษาโมเดลแก้กฎหมาย

ล่าสุด นายกิตติ ตั้งจิตรมณีศักดา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในการสัมมนา “กิโยตินกฎหมาย : ฟื้นเศรษฐกิจได้โดยไม่ต้องใช้เงิน” ซึ่งจัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้เห็นชอบให้มีการจัดสรรเงินเพื่อดำเนินโครงการทบทวนกฎหมายของประเทศไทย โดยจะจัดทำไพลอตโปรเจ็กต์ โดย กกร.สนับสนุน
งบฯเฟสแรก 13 ล้านบาท เฟส 2 อีก 12 ล้านบาท ให้ทีดีอาร์ไอศึกษาภายใต้งบฯ 20-30 ล้านบาท

“ที่ผ่านมาหน่วยงานต่าง ๆ มักจะใช้กฎระเบียบการออกใบอนุญาตจำนวนมากออกมา ส่งผลต่อธุรกิจ ควรยกเลิกให้เหลือเฉพาะที่จำเป็น ถ้าสภาพแวดล้อมโดยรวมเปลี่ยน กฎเกณฑ์ก็ต้องเปลี่ยน โลกเจอโควิดก็ต้องเปลี่ยน หากใช้กติกาเดิมในสภาพแวดล้อมใหม่ จะเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจ เป็นภาระกับประชาชน”

กติกายุ่งยากกระทบต้นทุน 2 แสนล้าน

 

ดร.กิรติพงศ์ แนวมาลี นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ผู้วิจัยเรื่องการทบทวนกฎหมายของประเทศไทย ภายใต้โครงการ Regulatory Guillotine เปิดเผยว่า ผลการศึกษาร่วมกับสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ปยป.) และ กกร.พบว่า ในกระบวนงาน 1,094 กระบวนงาน จาก 16 กระทรวง 47 กรม สร้างภาระต้นทุนให้ประชาชน และภาคธุรกิจ 2 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งมีทั้งค่าใช้จ่ายจริง และต้นทุนการเสียโอกาสในการทำธุรกิจ

“จึงเสนอให้โละกฎหมายที่ไม่จำเป็น ไม่ทันสมัย 39% ปรับปรุงกฎหมาย 43% สร้างกฎหมายใหม่ ยุบรวมกฎหมาย 4% และให้คงไว้ 15% จากทั้งหมด 1,094 กระบวนงาน จะช่วยลดต้นทุนให้ประชาชน 1.3 แสนล้านบาท หรือ 0.8% ของจีดีพี เป็นวิธีฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ทำได้ง่าย ไม่ต้องสูญเสียงบประมาณ”

ตัวอย่าง 3 เรื่องควรแก้

ดร.กิรติพงศ์ยกตัวอย่าง 1) การแก้ไขประกาศ และกฎกระทรวงที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ เช่น พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ปี 2559 และกฎกระทรวง 4 ฉบับ ที่กำหนดให้ผู้ให้บริการในสถานประกอบกิจการเพื่อสุขภาพ ต้องนำเอกสารที่ผ่านการอบรมไปยื่นให้กับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เพราะมียอดคนยื่นจด 40,000 คนต่อปี หากแก้ไขจะช่วยลดต้นทุนได้ถึง 13,000 ล้านบาท

2) ประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่องเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 46) กำหนดหลักเกณฑ์ให้ขออนุมัติการใช้และการเคลื่อนย้ายเครื่องเก็บเงินอัตโนมัติ กระทบต่อผู้ค้าปลีก 16,000 ร้านค้า เพราะต้องจัดโปรโมชั่น ในช่วงกระตุ้นการจับจ่ายช่วงโควิดนี้จะมีต้นทุนต่อการย้ายเครื่อง 3,500 บาทต่อคำขอต่อเครื่องต่อครั้ง คิดเป็นมูลค่า 60 ล้านบาท สามารถยกเลิกได้ เนื่องจากเทคโนโลยีปัจจุบันพัฒนาให้สามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังจากร้านค้าได้

3) ปัจจุบันเกิดปัญหาโควิดหลายธุรกิจมีความเสี่ยงจะล้มละลาย ปัญหาคือมีจำนวนธุรกิจไม่น้อยไม่เข้าระบบฟื้นฟู เพราะไม่สามารถแบกรับต้นทุนการจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับผู้ทำแผนฟื้นฟูได้ จะต้องแก้กฎหมายลดอุปสรรคในการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟู จะทำให้มีผู้ทำแผนมากขึ้นลดต้นทุนภาคธุรกิจลง

ต่างชาติหนุนอีกแรง

มุมมองของภาคธุรกิจต่างชาติ Mr. Robert C. Fox ประธานคณะทำงานด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) สะท้อนว่า นักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในไทยจะพิจารณาดัชนีชี้วัดต่าง ๆ เช่น Ease of Doing Business ของธนาคารโลก ซึ่งไทยทำได้ดี ได้เลื่อนจากอันดับ 26-27 มาเป็นอันดับที่ 21 จากการปรับกฎระเบียบบางอย่าง ดูดัชนีความสามารถในการแข่งขันของ WEF และ IMD และดูกฎหมายประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

สิ่งที่นักลงทุนให้ความสนใจ คือ การปฏิรูปกฎระเบียบ กรณีประเทศไทยคาดว่าจีดีพีจะขยายตัว 2% กว่า ปีนี้ถ้าไม่มีโควิดจะโต 2.7% แต่พอเกิดวิกฤตโควิดติดลบมาก การที่เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำก่อนเกิดโควิด ชี้ให้เห็นว่า โครงสร้างเศรษฐกิจไทยถ้าไม่ปรับจะเติบโตช้า ขณะที่หลายประเทศในอาเซียนโต 6-7% อุปสรรคสำคัญคือ กฎระเบียบ ควรศึกษาจากต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ โออีซีดี เวียดนาม ที่ปฏิรูปกฎระเบียบครั้งใหญ่ หัวใจสำคัญคือรัฐต้องมีเจตจำนงทางการเมือง (political view)

รธน.ระบุชัดทบทวนกฎหมายทุก 5 ปี

นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า ไทยมีรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 77 ที่ว่าด้วยเรื่องหน่วยงานต่าง ๆ จะต้องทบทวนกฎหมาย ทุก 5 ปี ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งยังมีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ทบทวนกฎหมาย แต่หน่วยงานต่าง ๆ มักจะคุ้นเคยกับระบบเดิม จึงมีการตั้งคณะทำงานเพื่อปฏิรูปกฎหมายขึ้น ซึ่งหากเอกชนร้องผ่านมา กฤษฎีกาจะส่งไปที่หน่วยงาน ถ้าไม่แก้หรือแก้ไขไม่ตรงจุดจะเสนอตรงถึงคณะรัฐมนตรี

 

สอดคล้องกับความเห็นของ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย และประธานกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลักดันทบทวน และปฏิรูปกฎหมายล้าหลังที่ระบุว่า นอกจากยกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็น จะทำให้ต้นทุนธุรกิจลดลงมากกว่า 1.5 แสนล้านบาทแล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นทางอ้อม ที่เกิดจากการจำกัดการแข่งขัน ทั้งนี้ ปัญหาทั้งหมดนี้ ภาครัฐตระหนักและเห็นถึงความสำคัญว่าต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน