Print

อีอีซีหนุน “สะพานไทย” เชื่อมโลก บูมเศรษฐกิจอ่าวไทย-อันดามัน

“หอการค้า” หนุนบิ๊กโปรเจ็กต์ อีอีซี เชื่อมโยงแหลมฉบังไทย-นานาชาติ ก่อสร้างสะพานไทย-ท่าเรือบก-จุดบรรจุและกระจายสินค้า มั่นใจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยระยะยาว

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่าในวันที่ 5 ตุลาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 4/2563 พิจารณาความก้าวหน้าการดำเนินงานในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) และได้หารือถึงแนวทางการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ ประกอบด้วย 3 โครงการสำคัญ ได้แก่

1.โครงการท่าเรือบก (Dry Port) โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย และ สกพอ.จะเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ โดยร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านดำเนินการท่าเรือบก ในเมืองสำคัญ ๆ เช่น ฉงชิ่งคุนหมิง (จีน) นาเตย หลวงพระบาง เวียงจันทน์ สะหวันนะเขต (สปป.ลาว) ย่างกุ้ง เนย์ปิดอว์ มัณฑะเลย์ (พม่า) ปอยเปต พนมเปญ (กัมพูชา) และดานัง (เวียดนาม) ซึ่งคาดว่าเมื่อเชื่อมโยงสมบูรณ์จะเพิ่มปริมาณสินค้าเข้าท่าเรือแหลมฉบังได้ 2 ล้านตู้สินค้า (ทีอียู) ต่อปี

2.โครงการเชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน (ท่าเรือชุมพร ท่าเรือระนอง Land Bridge) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มีโครงการจะพัฒนาท่าเรือน้ำลึก จังหวัดระนอง ให้เป็นท่าเรือสินค้าคอนเทนเนอร์ ขนส่งสินค้าเส้นทางเดินเรือในกลุ่มประเทศ BIMSTEC (บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาลและศรีลังกา) โดยการขนส่งผ่านท่าเรือระนอง จะลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่ง เพราะไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา และยังมีแนวคิดจะพัฒนาท่าเรือน้ำลึก จ.ชุมพรเพิ่มเติม โดยจะพัฒนาระบบขนส่งสินค้า เชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกทั้งสองแห่ง ด้วยรถไฟทางคู่ ทางหลวง motorway เพื่อเป็นสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงทะเลอันดามันและอ่าวไทย

 

3.โครงการสะพานไทย ที่จะเชื่อมโยงอีอีซีไปสู่เอสอีซี โดยก่อสร้างทางรถยนต์มาตรฐาน 4 ช่องจราจร พร้อมไหล่ทางเชื่อมฝั่งตะวันตกและตะวันออกของอ่าวไทยตอนบนระยะทาง 80-100 กม. นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยในโอกาสที่ร่วมประชุมกพอ. ว่า การพัฒนาและสร้างความเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติถือเป็นโครงการที่ดีมาก เพราะจะมีส่วนส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะยาว

โดยเฉพาะโครงการสะพานไทย ซึ่งจะเป็นการเชื่อมเส้นทางบกและเส้นทางขนส่งทางรถไฟ ระหว่างแหลมฉบังฝั่งตะวันออกไปยังฝั่งตะวันตก โดยพาดผ่านอ่าวไทยไปยัง จ.เพชรบุรี ระยะทาง 86 กม. หรือเชื่อมไปยัง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง110 กม. ซึ่งจะช่วยลดเวลในการเดินทาง1 ชั่วโมง-1ชั่วโมงครึ่ง

โดยจากนี้ยังต้องมาเลือกว่าเส้นที่จะตัดไปที่ จ.เพชรบุรี หรือประจวบคีรีขันธ์ และต้องผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์ จัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และก่อสร้าง คาดว่าจะใช้เวลา 15 ปี หากสำเร็จจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยว เป็นการกระจายความเจริญไปทั้งสองฝั่ง

 

“วันนี้คุยกันถึงแนวทางเชื่อมโยงไทยกับนานาชาติ ซึ่งอีอีซีให้รายละเอียดทั้งการพัฒนาสะพานไทย เชื่อมเส้นทางขนส่งทางบก เส้นทางรถไฟจากแหลมฉบังจะเชื่อมต่อลงมาที่ชุมพร ระนอง และส่งผ่านไปยังเมียนมา การทำดรายพอร์ตถือว่าเป็นไอเดียที่ดี และยังมีการพัฒนาจุดบรรจุและกระจายสินค้า 3 จังหวัดคือ โคราช ขอนแก่น นครสวรรค์ ซึ่งจะช่วยให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์เชื่อมโยงกับเพื่อนบ้าน”

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์