Print

สรท. ชี้ส่งออกปี’63 หดตัว 8% ตลาดโลกจับตาเลือกตั้งสหรัฐฯ

“สรท.” เกาะติดเลือกตั้งสหรัฐ หลังทรัมป์ติดโควิด ไม่กระทบการค้าโลก มั่นใจปัจจัยบวกช่วยส่งออกไทยปี 2563 หดตัวลดลง จากลบ 10% เหลือลบ 8% ห่วงต้นทุนขนส่งระหว่างประเทศ-ศก.โลกซบกระทบส่งออก

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ได้ติดตามประเมินสถานการณ์การค้าโลกอย่างใกล้ชิดภายหลังจากกรณีนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดนายทรัมป์มีอาการดีขึ้นสามารถออกจากโรงพยาบาลไปปฏิบัติหน้าที่ได้แล้ว เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อการปฏิบัติงานหรือการหาเสียง เพราะน่าจะปรับกลยุทธ์มาใช้ช่องทางสื่อสารออนไลน์แทน ขณะที่โพลความนิยมล่าสุดนายโจ ไบเดน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครตถือว่ามีคะแนนนำ ซึ่งนายไบเดนให้ความสำคัญเรื่องการค้าเสรี

 

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท.ปรับคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2563 ติดลบ 8-10% จากเดิมที่คาดว่าติดลบ 10% ผลจากมีปัจจัยบวกจากความต้องการสินค้าทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เห็นได้จากยอดคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกสินค้าทั่วโลกที่ขยายตัว มีการนำเข้า-ส่งออกสินค้ากลุ่มที่มีศักยภาพ อาทิ สินค้าอาหาร สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงานที่บ้าน และสินค้าเพื่อการป้องกันการระบาดของโรค ถุงมือยาง

“ปัจจัยเสี่ยงสำคัญมาจากสภาพเศรษฐกิจทั่วโลกที่ตกต่ำ ส่งผลต่อกำลังซื้อผู้บริโภคทั่วโลกยังอ่อนแอจึงจะเน้นใช้จ่ายเฉพาะสินค้าจำเป็น ราคาไม่สูง การแข่งขันรุนแรง และค่าเงินบาทยังคงแข็งค่า มาจากการซื้อสุทธิในตลาดทุนประเทศไทย และผลจากเงินดอลลาร์อ่อนค่าหลังสหรัฐ ใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพื่อพยุงเศรษฐกิจ”

“เราขอให้รัฐบาลรักษาเสถียรภาพเงินบาทไว้ในระดับ 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หรือไม่แข็งค่ากว่าสกุลอื่นในภูมิภาค ทาง สรท.จะนำประเด็นนี้หารือกับคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) และจะเข้าพบนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ เพื่อรายงานสถานการณ์ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ต่อไป”

ปัจจัยต้นทุนโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ซึ่งประสบปัญหาค่าระวางสูงโดยเฉพาะเส้นทางทรานส์แปซิฟิกและออสเตรเลีย จากที่หลายสายเรือเริ่มมีพื้นที่ไม่เพียงพอจึงไม่สามารถรับการบุ๊กกิ้งได้ และต้องมีการปิดรับชั่วคราว อาทิ ออสเตรเลีย ยุโรป และอเมริกา

ปัญหาการขาดแคลนตู้บรรจุสินค้า หลังจากที่จีนฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ จึงมีความต้องการสายเรือไปจีนค่อนข้างมาก ผู้ประกอบการไทยได้รับ space allocation ไม่เพียงพอ ซึ่งแนวทางการแก้ไขควรกำหนดเป็นบริการขนส่งสินค้าทางเรือระหว่างประเทศเป็นบริการควบคุม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ 2542 เพื่อวางแนวทางหารือร่วม 3 ฝ่ายทุกครั้งหากสายเรือจะประกาศค่าบริการเพิ่มเติม

ส่วนการแก้ไขปัญหาปริมาณระวางเรือและตู้บรรจุสินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการ ขอให้ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า 2560 เพื่อป้องกันไม่จํากัดปริมาณสินค้าหรือบริการ รวมถึงการใช้พฤติกรรมจำกัดการแข่งขัน เป็นต้น

ขณะที่ปัจจัยราคาน้ำมันดิบที่ทรงตัวอยู่ระดับต่ำกว่าปี 2562 ทำให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อาทิ พลาสติก เคมีภัณฑ์ และน้ำมันสำเร็จรูป ยังมีแนวโน้มชะลอตัวลง ส่วนภาคการผลิตสินค้าเกษตรต้องประสบปัญหาภัยแล้ง ระดับน้ำในเขื่อนสำคัญทั้งเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ รวมถึงเขื่อนบางพระทางตะวันออก ยังมีปริมาณต่ำ

 

รวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว เพราะยังไม่สามารถเดินทางกลับเข้ามาประเทศไทยได้ ซึ่งรัฐบาลควรต้องสนับสนุนมาตรการเพื่อทดแทนแรงงาน ซึ่งมาตรการรัฐช่วยจ่าย copay ถือว่าเป็นมาตรการที่ต้องดำเนินการต่อ และต้องจับคู่แรงงานที่ว่างงานกับภาคอุตสาหกรรมที่ขาดแรงงานเพื่อแก้ไขปัญหาด้วย

ที่มา : https://www.prachachat.net